xs
xsm
sm
md
lg

น่าทึ่ง! สวพส.หนุนคนบ้านใหม่สองแควพลิกไร่ข้าวโพดทำสวนผักเลิกใช้สารเคมี-ปลดหนี้สำเร็จยกหมู่บ้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



น่าน - สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงโชว์ "บ้านใหม่ สองแคว" ชุมชนต้นแบบเปลี่ยนไร่ข้าวโพดทำสวนผักปลอดภัย ลดละเลิกใช้สารเคมี-ปลดหนี้ครัวเรือนสำเร็จยกหมู่บ้าน เปิดจุดเช็กอินถ่ายรูปคู่ผัก ได้ทั้งความรู้ สุขภาพ และความสุข




หลังจากสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. นำองค์ความรู้และงานวิจัยโครงการหลวงมาสนับสนุนตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้ “บ้านใหม่ หมู่ 4 ต.นาไร่หลวง อ.สองแคว จ.น่าน” กลายเป็นหนึ่งในชุมชนต้นแบบลดละเลิกใช้สารเคมีของจังหวัดน่านเต็มรูปแบบ

นายวรกิตติ ศรีทิพากร ผู้ว่าฯ น่าน พร้อมด้วยนายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผอ.สวพส., ดร.ประชา แสนกลาง นายอำเภอสองแคว หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน แกนนำและเครือข่ายภาคีเกษตรกร และสื่อมวลชน เข้าร่วมเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้อย่างเป็นทางการ พร้อมศึกษาดูงานและการถ่ายทอดเทคโนโลยีชุมชนต้นแบบแห่งนี้ด้วย


ผอ.สวพส.กล่าวว่า สภาพปัญหาเดิมชุมชนนี้คือการทำเกษตรเชิงเดี่ยว ปลูกข้าวโพดที่ใช้สารเคมี รายได้ที่ไม่เพียงพอส่งผลต่อสุขภาพของคนในหมู่บ้านและหนี้สินครัวเรือน แต่ชุมชนมีความเข้มแข็ง และทำประชาคมหมู่บ้านเพื่อจะแก้ไขปัญหาในช่วงปี 2552 ถือเป็นปัจจัยและจุดเริ่มต้นที่สำคัญ

สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงได้นำองค์ความรู้และงานวิจัยที่เป็นรูปธรรมจากโครงการหลวงมาปรับใช้ให้เหมาะสมในการพัฒนาพื้นที่ของหมู่บ้านแห่งนี้ ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีมีการปรับปรุง แก้ไข พัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ชุมชนบ้านใหม่สามารถลดพื้นที่การปลูกข้าวโพด ลด ละ เลิกการใช้สารเคมีได้สำเร็จ มีการปรับพื้นที่ปลูกผักปลอดภัยเพื่อการบริโภคในชุมชนและขายผลผลิตออกไปยังพื้นที่ใกล้เคียง


กระทั่งคนในชุมชนมีสุขภาพที่ดีขึ้น ซึ่งมีผลการตรวจวัดสารเคมีปนเปื้อนและตกค้างในกระแสเลือดเป็นตัวชี้วัดได้ หนี้สินครัวเรือนลดลงจากการลดต้นทุนการผลิต เช่น ค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าสารเคมี และมีรายได้เสริมจากการจัดตั้งตลาดร้านค้าชุมชน เพื่อนำผลผลิตผักปลอดภัย ผลผลิตไม้ผล พริกหวาน องุ่น มะนาว นำไปจำหน่าย

“จากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ทำให้ชุมชนบ้านใหม่เป็นชุมชนที่ทั้งหมู่บ้านพร้อมใจกันลด ละ เลิกใช้สารเคมี และปรับเปลี่ยนการใช้พื้นที่การเกษตรได้อย่างคุ้มค่าและยั่งยืน”


นางลำไย สุฤทธิ์ อายุ 65 ปี อยู่บ้านเลขที่ 10 ม.4 บ้านใหม่ ต.นาไร่หลวง อ.สองแคว จ.น่าน เล่าว่า ก่อนหน้านี้ปลูกข้าวโพดหลายไร่ มีปัญหาเรื่องสุขภาพและตรวจพบสารตกค้างปนเปื้อนในกระแสเลือดมาก เมื่อเข้าร่วมโครงการหลวงวังไผ่ บ้านใหม่ ได้ปรับลดพื้นที่ปลูกข้าวโพด ทำการเกษตรปลูกผักปลอดภัย และลดเลิกใช้สารเคมี ปัจจุบันสุขภาพดีขึ้นและไม่พบสารตกค้างในเลือดอีก นอกจากนี้ยังได้เก็บผักปลอดภัยนำไปขายที่ตลาดร้านค้าชุมชนมีรายได้ด้วย

สำหรับรายแปลงโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงวังไผ่ บ้านใหม่ ต.นาไร่หลวง อ.สองแคว จ.น่าน มีเกษตรกรเครือข่ายปรับเปลี่ยนจากไร่ข้าวโพดเป็นสวนผักปลอดภัย 34 ราย แปลงเกษตร 42 แปลง พื้นที่เกษตรทั้งหมด 267.07 ไร่ และได้จัดทำเป็นแหล่งเรียนรู้ เปิดโอกาสให้บุคคลและกลุ่มคณะเข้าศึกษาดูงานได้




โดยจัดทำเป็น 10 ฐาน ได้แก่ ฐานที่ 1 องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูง, ฐานที่ 2 ผักปลอดภัย, ฐานที่ 3 การปรับปรุงดินและการผลิตปุ๋ย, ฐานที่ 4 พืชไร่บนพื้นที่สูง, ฐานที่ 5 อุตุนิยมวิทยาเพื่อการพัฒนาบนพื้นที่สูง, ฐานที่ 6 การลดใช้สารเคมีและการใช้สารชีวภัณฑ์เกษตร, ฐานที่ 7 มาตรฐานผลผลิตที่มีคุณภาพ, ฐานที่ 8 ชุมชนต้นแบบการพัฒนาพื้นที่สูง, ฐานที่ 9 ตลาดชุมชน และฐานที่ 10 การปรับระบบเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ศึกษาดูงานภายในแปลง ปรับระบบการปลูกพืชจากพืชไร่สู่การทำสวนไม้ผลแบบผสมผสานของ “นายเผชิญ ระลึก” ผู้นำเกษตรกรบ้านใหม่

นอกจากบ้านใหม่ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงยังมีพื้นที่ศึกษาดูงานในจังหวัดน่านอีก 11 พื้นที่ ใน 9 อำเภอ 96 หมู่บ้าน ซึ่งในแต่ละพื้นที่มีบริบทการพัฒนาที่แตกต่างกัน โดยการใช้องค์ความรู้ และกระบวนการเรียนรู้จากโครงการหลวงผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่นในการพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูง ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งก่อให้เกิดการดำเนินการระหว่างหน่วยงานกับชุมชน ช่วยให้ชุมชนสามารถพัฒนาตัวเองได้อย่างยั่งยืน








กำลังโหลดความคิดเห็น