ชาวแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ และ กฟผ. รวมพลังวิ่งรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาหมอกควันไฟป่า สนับสนุนเครื่องเป่าลมสำหรับดับไฟป่า 32 เครื่อง และสมทบทุนจัดตั้งกองทุนหมอกควันไฟป่าจิตอาสาอำเภอแม่แจ่ม ผ่านกิจกรรม “วิ่งทั้งอำเภอเพื่อเธอทุกคน Maechaem Run for All 2020”
สุกัญญา วรรธนะประทีป ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์ความยั่งยืน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. ได้ร่วมกิจกรรม “วิ่งทั้งอำเภอเพื่อเธอทุกคน Maechaem Run for All 2020” จัดขึ้นโดย
ชาวอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อระดมเงินจัดตั้งกองทุนหมอกควันไฟป่า และรณรงค์สร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชนให้ร่วมกันแก้ปัญหาหมอกควันไฟป่าในพื้นที่อำเภอแม่แจ่มที่ประสบปัญหาหมอกควันและไฟป่าบ่อยครั้ง
ภายในงานได้รับเกียรติจาก นายคมสัน สุวรรณอัมพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธี
พร้อมด้วยนายบุญลือ ธรรมธรานุรักษ์ นายอำเภอแม่แจ่ม หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนอำเภอแม่แจ่มกว่า 1,000 คน ร่วมวิ่งเป็นระยะทาง 4.3 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 7 มกราคมที่ผ่านมา ณ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่
กฟผ. เล็งเห็นถึงความมุ่งมั่นของพี่น้องอำเภอแม่แจ่ม ในการดำเนินงานด้านต่าง ๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวอำเภอแม่แจ่มให้มีความเข้มแข็ง เช่น โครงการ “52,000 ฝายถวายพ่อ” ซึ่ง กฟผ. ได้มีส่วนร่วมสนับสนุนการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรผู้นำการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (นขพ.) ระดับผู้นำท้องถิ่น 7 ตำบล 104 หมู่บ้าน ในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม จนเกิดการขับเคลื่อนงานในรูปแบบ
จิตอาสาภาคประชาชนที่ร่วมมือกันทำงานและสร้างฝายภูมิปัญญาชาวบ้านได้มากกว่า 52,000 ฝาย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยดูแลและรักษาพื้นที่ต้นน้ำตามแนวทางของศาสตร์พระราชา จนกระทั่งต่อยอดมาถึงงานวิ่งทั้งอำเภอเพื่อเธอทุกคนในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริงในการปกป้อง หยุดการเผาป่า และช่วยดับไฟป่า เพื่อลดปัญหาหมอกควัน โดยในครั้งนี้ กฟผ. ได้ร่วมสนับสนุนเครื่องเป่าลมสำหรับดับไฟป่า จำนวน 32 เครื่อง พร้อมมอบทุนให้แก่อำเภอแม่แจ่ม เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาหมอกควันไฟป่า 300,000 บาท และสมทบเข้ากองทุนหมอกควันไฟป่าจิตอาสาในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม 50,000 บาท
“กฟผ. พร้อมดำเนินงานตามนโยบาย Energy for All ของกระทรวงพลังงาน เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง โดยบูรณาการแนวคิดในการแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนด้วยการบริหารจัดการพื้นที่แบบโคก หนอง นา โมเดล เพื่อพัฒนาน้ำ อาหาร และพลังงาน ซึ่งเป็นปัจจัยจำเป็นพื้นฐานของมนุษย์และเป็นการใช้พื้นที่ของชุมชนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านพลังงานหมุนเวียนจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร กฟผ. จึงสนับสนุนให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาพลังงานในพื้นที่และเป็นเจ้าของพลังงาน ซึ่งจะช่วยพัฒนาสังคมให้มีความเข้มแข็ง ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน” สุกัญญา กล่าว