xs
xsm
sm
md
lg

พี่น้องชาวไท-ยวน จัดประเพณีตักบาตรข้าวหลามจี่เดือนยี่ สืบทอดประเพณีวัฒนธรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สระบุรี - องค์การบริหารส่วนตำบลหนองโน จัดงานตักบาตรข้าวหลามจี่เดือนยี่ สืบทอดประเพณีวัฒนธรรมของพี่น้องชาวไท-ยวน ที่บ้านหนองโน เป็นการนำข้าวเหนียวใหม่ที่เก็บเกี่ยวในฤดูแรกมาเผาเป็นข้าวหลามและนำไปใส่บาตรพระสงฆ์ มีความเชื่อว่าเป็นการบูชาและทำบุญให้พระแม่โพสพ






วันนี้ (9 ม.ค.) ที่ลานอเนกประสงค์องค์การบริหารส่วนตำบลหนองโน ถูกประดับตกแต่งสถานที่ไว้อย่างสวยงาม บ่งบอกถึงเอกลักษณ์พื้นถิ่นของชาวบ้านที่ส่วนใหญ่เป็นชาวไท-ยวนดั้งเดิมที่มาอยู่ในจังหวัดสระบุรีหลายชั่วอายุคน ในการจัดงานประเพณีตักบาตรข้าวหลามจี่ เดือนยี่ที่หนองโน ประจำปี 2563 โดยความร่วมมือองค์การบริหารส่วนตำบลหนองโน ร่วมกับพระครูมงคลธรรมสุนทร เจ้าคณะตำบลหนองโน หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และพี่น้องชาวชุมชนไท-ยวน บ้านหนองโน

โดยปีนี้จัดติดต่อกันเป็นปีที่ 18 ในระหว่างวันที่ 8-10 มกราคม 2563 มีชาวบ้านจากหมู่บ้านต่างๆ ในตำบลหนองโน ได้จัดขบวนเกวียนโบราณแห่ต้นฉลากภัต ที่ตกแต่งสวยงาม เพื่อเตรียมนำมาถวายพระสงฆ์ โดยงานบุญประเพณีตักบาตรข้าวหลามจี่เดือนยี่ ประจำปี 2563 บ้านหนองโน อ.เมือง จ.สระบุรี มีนางอังคณา ชิตะติดติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี เป็นประธานเปิดงาน

ประเพณีตักบาตรข้าวหลามจี่เดือนยี่ที่หนองโน มีขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยเริ่มครั้งแรกเมื่อปี 2546 แต่ขณะนั้นยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากนัก ต่อมา เมื่อปี 2556 ที่ผ่านมา การจัดงานได้รับความนิยมจากพี่น้องชาวไท-ยวน และพี่น้องชาวจังหวัดสระบุรีเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อช่องทางต่างๆ หลายด้าน โดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก IG ยูทูป อินเทอร์เน็ต สื่อท้องถิ่นเคเบิลทีวี เป็นต้น ทำให้มีการประชาสัมพันธ์ในวงกว้างมากขึ้น เป็นการจัดงานที่สืบสานวัฒนธรรมประเพณีปฏิบัติที่เก่าแก่และหาดูได้ยากของชนชาติพันธุ์ทำให้เกิดความน่าสนใจ

งานบุญประเพณีตักบาตรข้าวหลาม เป็นบุญประเพณีของพุทธศาสนิกชนชุมชนไท-ยวน หรือโยนกนครเดิม พื้นเพคนหนองโน อพยพย้ายถิ่นมาจากเมืองเชียงแสน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2347 หรือเมื่อกว่า 216 ปีล่วงมาแล้ว แต่พี่น้องชาวไท-ยวนหนองโน ยังคงยึดถืออัตลักษณ์ เช่น ภาษา เครื่องแต่งกาย อาหาร ขนบธรรมเนียมประเพณีที่ถือปฏิบัติกันมา เช่น ประเพณีตักบาตรข้าวหลาม หมายถึงการนำข้าวเหนียวใหม่ที่เพิ่งเกี่ยวขึ้นมาทำเป็นข้าวหลาม และนำไปใส่บาตรพระสงฆ์ที่วัดใกล้บ้านในวันพระขึ้น 15 ค่ำเดือน 2 ของทุกปี เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ครอบครัว อุทิศส่วนกุศลให้แก่พระแม่โพสพ ขอพรให้ครอบครัวได้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข มีข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์ ตลอดจนเป็นการส่งเสริมอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมือง ให้ทุกคนเห็นคุณค่าประเพณีวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับวิถีชีวิตและผลผลิตของชาวนา หรือเรียกกันว่าเทศกาลข้าวใหม่

โดยชาวบ้านนำข้าวหลามที่เผานั้นมาใส่บาตรในตอนเช้าเพื่อทำบุญให้แม่โพสพและเป็นสิริมงคลแก่ครอบครัว เดิมทีนั้นพิธีตักบาตรข้าวหลามนั้นมีอยู่ 3 วัด คือ วัดหนองโนเหนือ วัดหนองโนใต้ และวัดป๊อกแป๊ก แต่ปัจจุบันนี้เหลือเพียงที่วัดหนองโนใต้เพียงวัดเดียวเท่านั้น ส่วนคำว่า “จี่” เป็นลักษณะของการนำข้าวหลามไปย่างหรือเผาหรือปิ้งไฟ จึงมีคำว่าจี่ต่อท้ายคำว่าทำบุญตักบาตรในเวลาต่อมา

ทั้งนี้ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ชาวบ้านหนองโนไม่ได้ทำข้าวจี่เหมือนถิ่นอื่นๆ คงมีแต่การเผาข้าวหลามไว้รับประทานกันเท่านั้น เชื่อกันว่าเป็นอานิสงส์ยิ่งใหญ่ และเพื่อบูชาทำบุญให้แก่แม่โพสพ ให้ช่วยคุ้มครองดูแลข้าวเปลือกในยุ้งฉางของตน มิให้สิ่งอื่นใดมารบกวน นำข้าวเหนียวใหม่ที่เก็บเกี่ยวในฤดูกาลแรกของปีมาทำเป็นข้าวหลาม และนำมาใส่บาตรให้พระสงฆ์เพื่อเป็นสิริมงคล รวมทั้งเพื่อเป็นการแสดงออกถึงความสามัคคีของชุมชนในท้องถิ่น

โดยกิจกรรมภายในงานจะมีการออกร้านจำหน่ายสินค้าพื้นบ้าน ร้านขายข้าวหลามจากกลุ่มแม่บ้าน ซุ้มจำหน่ายขนมหวานโบราณ ซุ้มแสดงวิถีชีวิตไท-ยวนแบบเศรษฐกิจพอเพียง การแสดงแสง สี เสียงวัฒนธรรมพื้นบ้าน และการจัดงานกินข้าวแลงขันโตก เป็นต้น ซึ่งมีการแต่งตัวและใช้ภาษาพูดแบบไท-ยวน สำเนียงและคำพูดเป็นเหมือนภาษาเหนือ งานครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อให้ชาวบ้านเกิดความรักความสามัคคีกันของชาวบ้านในชุมชน สืบทอดประเพณีไท-ยวน และเพื่อให้ประเพณีตักบาตรข้าวหลามจี่เดือนยี่ ที่บ้านหนองโนเป็นที่รู้จักแพร่หลายมากยิ่งขึ้น














กำลังโหลดความคิดเห็น