พิษณุโลก - วิสาหกิจชุมชุนคนเลี้ยงจระเข้บ้านไร่-บางกระทุ่ม จี้รัฐปลดล็อกพ้นบัญชีไซเตส ครวญผ่านทหารประมงส่งเสริมเลี้ยง ต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้เพียบแต่ส่งออกไม่ได้ ระบุจีนเคยติดต่อสั่งซื้อสุดท้ายหนีไปเขมร-แอฟริกาแทน
ระหว่าง พล.อ พีรพงษ์ เมืองบุญชู ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา พล.ต.ดำรง ดงเดช ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาภาค 3, พ.อ.ณรงค์ชัย ไชยชนะ ผู้บังคับหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 34, นายอำเภอวังทองและประชาชน ฯลฯ นำชุดแพทย์เคลื่อนที่ทหารบริการตรวจสุขภาพ, วัดสายตา, มอบแว่นสายตาและแจกผ้าห่มแก้ภัยหนาว พร้อมติดตามผลดำเนินการโครงการหมู่บ้านพัฒนาเพื่อความยั่งยืน และเป็นประธานในพิธีตัดหวายลูกนิมิตที่วัดอรัญวาศรีคีรี บรรพต ต.แก่งโสภา อ.วังทอง จ.พิษณุโลก เมื่อเร็วๆ นี้
โดยกลุ่มส่งเสริมอาชีพตามโครงการหมู่บ้านพัฒนาต่างๆ ร่วมนำเสนอผลงานด้วย พร้อมนำเสนอปัญหาหวังให้รัฐบาลแก้ไขด้วย โดยเฉพาะกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงจระเข้ที่ได้รับการส่งเสริมจาก นพค.34 และมีการพัฒนาต่อยอดทำผลิตภัณฑ์ออกมาหลากหลาย แต่กลับปัญหาเรื่องการขายเพราะติดอนุสัญญาไซเตส
นายธิติวัฒน์ วรวิทย์ภูวสิน ผู้แทนวิสาหกิจชุมชุนกลุ่มผู้เลี้ยงจระเข้บ้านไร่ อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก เปิดเผยว่า ตนทำฟาร์มเลี้ยงจระเข้ที่บางกระทุ่มประมาณ 1 พันตัว แต่ถ้ารวมผู้เลี้ยงทั่วภาคเหนือก็มีหลายสิบฟาร์ม นับรวมในกลุ่มสมาชิกแล้วมีการเลี้ยงจระเข้เป็นหมื่นๆ ตัว สามารถผลิตและแปรรูปเนื้อหนังจระเข้หลากชนิด แต่ติดขัดมีปัญหาเรื่องอนุสัญญาไซเตสที่ควบคุมไม่ให้การค้าสัตว์ป่า โดยกำหนดให้จระเข้น้ำจืดและน้ำเค็มเป็นสัตว์คุ้มครองประเภท 1
ทางกรมประมงก็ส่งเสริมจนมีการเพาะเลี้ยงจระเข้จำนวนมากทั่วประเทศ นำไปสู่การแปรรูปเนื้อและหนังจระเข้ ทำเป็นกระเป๋าต่างๆ ด้วยฝีมือคนไทยซึ่งไม่แพ้ชาติอื่น แต่ปรากฏว่าเราเลี้ยงได้แต่ขายไม่ได้เพราะเป็นสัตว์คุ้มครอง ติดกฎหมายหลายข้อจนไม่สามารถส่งผลิตภัณฑ์จระเข้ขายต่างประเทศได้ ทำได้เพียงขายในประเทศเท่านั้น
นายธิติวัฒน์ บอกว่าช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ลูกค้าจีนที่ชื่นชอบหนังจระเข้สั่งซื้อสินค้าจากไทย แต่ติดปัญหาเรื่องนี้ทำให้ลูกค้าหันไปสั่งซื้อประเทศแถบแอฟริกา และเขมรแทน ไทยสูญเสียตลาดไปทันที เพราะติดเรื่องข้อสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศเป็นสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ ทั้งๆ ที่จระเข้ทำเป็นฟาร์มใหญ่โต
“ผลิตภัณฑ์จากจระเข้ทุกชนิดกำลังจะตาย เพราะไม่สามารถส่งขายต่างประเทศได้ ที่ผ่านมาก็เสนอปัญหาต่อกรมประมงแล้วแต่เรื่องไม่คืบ จึงขอให้ผู้บัญชาการทหารพัฒนา นำเสนอรัฐบาลเพื่อขอปลดล็อก ให้ภาครัฐดูตลาดปลายน้ำด้วย ผลิตภัณฑ์ทุกชนิดวันนี้ติดแบรนด์หมดแล้ว แต่วางขายในตลาดระดับบนหรือระดับโลกไม่ได้”
อนึ่ง ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันแก่อนุสัญญาไซเตส และเข้าเป็นภาคีสมาชิกลำดับที่ 78 เมื่อปี 2526 ปัจจุบันอนุสัญญาไซเตสมีภาคีสมาชิกกว่า 160 ประเทศทั่วโลก โดยมีประเทศลาวเข้าเป็นสมาชิกลำดับที่ 165 เมื่อเดือนมีนาคม 2547 ส่งผลให้ประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียนทั้ง 10 ประเทศได้เข้าร่วมเป็นภาคีต่ออนุสัญญาฉบับนี้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าและผลิตภัณฑ์ระหว่างประเทศจะถูกควบคุมโดยระบบใบอนุญาต (Permit) และหนังสือรับรอง (Certificate) ในการนำเข้า (Import) ส่งออก (Export) ส่งกลับออกไป (Re-export) และนำเข้าจากทะเล (Introduction from the Sea)
พันธุ์ของสัตว์ป่าและพืชป่าที่อนุสัญญาไซเตสควบคุม (CITES species) จะระบุไว้ในบัญชีหมายเลข 1 2 และ 3 สำหรับบัญชี 1 เป็นชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ห้ามค้าโดยเด็ดขาด ยกเว้นเพื่อการศึกษา วิจัย หรือเพาะพันธุ์ ซึ่งต้องได้รับความยินยอมจากประเทศที่จะนำเข้าเสียก่อน ประเทศส่งออกจึงจะออกใบอนุญาตส่งออกได้ ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความอยู่รอดของชนิดพันธุ์นั้นๆ ตัวอย่างชนิดพันธุ์บัญชี 1 เช่น ช้างเอเชีย เสือโคร่ง ลิงอุรังอุตัง จระเข้น้ำจืด จระเข้น้ำเค็ม เต่ามะเฟือง ปลายี่สกไทย เป็นต้น