xs
xsm
sm
md
lg

แล้งสาหัส!น้ำยมเหลือแต่ท้องทราย-น้ำน่านลดน่าใจหาย ชลประทานฯปิดคลองงดส่งน้ำแล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พิจิตร – วิกฤตภัยแล้งเมืองชาละวันส่อเค้าหนักหนาสาหัสแม่น้ำยมแห้งขอดเหลือแต่ท้องทราย-น้ำน่านลดลงอย่างน่าใจหาย ชลประทานฯประกาศห้ามสูบน้ำ-ปิดคลองงดส่งน้ำทำนาปรังแล้ว




นายอำนาจ อินทร์วงศ์แก้ว ผอ.โครงการชลประทานพิจิตร เปิดเผยถึงสถานการณ์ภัยแล้งว่า พิจิตรมีแม่น้ำหลักคือ แม่น้ำยม และแม่น้ำน่าน รวมถึงมีแม่น้ำพิจิตร อีก 1 สาย ซึ่งถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ของเกษตรกร แต่ปีนี้ต้องยอมรับว่าปริมาณน้ำฝนมีน้อย โดยเฉพาะพื้นที่เหนือเขื่อนมีฝนตกน้อยมาก ทำให้ปริมาณน้ำที่กักเก็บในเขื่อนต่างๆในภาคเหนือ มีปริมาณน้ำน้อย

ซึ่งขณะนี้ภาพที่เห็นคือสภาพของแม่น้ำยมที่แห้งขอด โดยเฉพาะแม่น้ำยมที่ไหลผ่านพิจิตรรวมระยะทาง 127 กิโลเมตร ที่แห้งจนเห็นหาดทรายอยู่กลางแม่น้ำยม จะมีน้ำหลงเหลือก็อยู่เพียงเล็กน้อยตามวัง หรือที่ลุ่มกลางแม่น้ำยมเท่านั้น ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นทุกปี ส่วนหนึ่งก็เกิดจากแม่น้ำยมไม่มีเขื่อนกักเก็บน้ำ เกษตรกรลุ่มน้ำยมส่วนใหญ่ก็รู้สถานการณ์และมีการปรับตัวอยู่กับธรรมชาติ


อย่างไรก็ตามชลประทานจังหวัดพิจิตร ต้องขอร้องให้ลดพื้นที่การทำนาปรังรอบ 2 ทั้งพื้นที่ที่อยู่ในเขตการส่งน้ำของชลประทานและอยู่นอกเขตการส่งน้ำ รวมถึงชาวนาที่เคยอาศัยเครื่องสูบน้ำด้วยพลังงานไฟฟ้าสูบน้ำจากแม่น้ำน่านไปทำนาปรัง ปีนี้ก็ไม่อนุญาตให้สูบ ส่วนคลองชลประทานขณะนี้ก็ประกาศงดจ่ายน้ำ หรืองดส่งน้ำไปให้เกษตรกรแล้ว

“ปริมาณน้ำที่มีน้อย ก็จำเป็นจะต้องมีไว้เพื่อการอุปโภค บริโภค รักษาระบบนิเวศ ดังนั้นจึงไม่มีน้ำที่จะให้ใช้เพื่อการเกษตรจนกว่าจะถึงหน้าฝน”


ด้านนางวราภรณ์ สมบัติวงค์ อายุ 50 ปี อยู่บ้านเลขที่ 28 หมู่ 2 บ้านวังขาหย่าง ต.รังนก อ.สามง่าม จ.พิจิตร หนึ่งในชาวนาลุ่มแม่น้ำยม ได้พาผู้สื่อข่าวเดินลงไปยังกลางแม่น้ำยม ซึ่งกลายเป็นหาดทรายไปแล้ว พร้อมบอกว่าแม่น้ำยมมีสภาพแห้งขอดแบบนี้มาตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2562 และก็เป็นแบบที่เห็นมานานนับสิบปี ไม่มีการแก้ไขเยียวยาหรือหาหนทางกักเก็บน้ำไว้ในแม่น้ำยมได้


“พื้นที่ตำบลรังนกเมื่อถึงฤดูน้ำหลากแม่น้ำยมก็ล้นตลิ่ง ท้องทุ่งนาก็ถูกน้ำท่วมเป็นเช่นนี้มาโดยตลอด พอหมดฝนเข้าแล้งได้ไม่กี่วัน น้ำยมก็แห้งเหลือแต่ท้องทราย ตนในฐานะที่เป็นเกษตรกรเห็นสภาพปัญหาแล้วอยากเสนอให้รัฐบาลหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหาวิธีขุดสระ ขุดคลอง ขุดลอกแม่น้ำยมให้เป็นที่กักเก็บน้ำ รวมถึงสร้างฝายชะลอน้ำ สร้างประตูน้ำในแม่น้ำยมให้สามารถกักเก็บน้ำได้เป็นช่วงๆแบบขั้นบันได ซึ่งก็เชื่อมั่นว่าจะแก้ปัญหาภัยแล้งได้”

ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในตำบลรังนกโดยความคิดเห็นส่วนตัวคิดว่าชาวบ้านแถบนี้หรือบางคนถ้าให้เลือกระหว่างภัยแล้งกับน้ำท่วม ขอเลือก “น้ำท่วมดีกว่าภัยแล้ง” เพราะได้หาปลา ได้ทำปลาร้า ปลาเค็ม ปลาแดดเดียว ขายเป็นรายได้เสริม แต่ถ้าเจอกับสถานการณ์ภัยแล้งจะไม่สามารถทำมาหาหากินอะไรได้เลย นอกจากอพยพไปขายแรงงานต่างถิ่น


กำลังโหลดความคิดเห็น