ตาก/พิษณุโลก - เรื่องจริงเจอมากับตัว..นศ.สาว ม.เทคโนล้านนาพิษณุโลก กลับบ้านเกิดเมืองตากซื้อปลาหมึกเตรียมฉลองปีใหม่กับครอบครัว เจอ “หมึกบลูริง” พิษร้ายกว่างูเห่า 20 เท่าปนมาด้วย โชคดีสังเกตเห็นก่อนรีบทิ้งพร้อมโพสต์เตือนภัย
หลังผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “Faii Sirirat” โพสต์เตือนภัยผ่านกลุ่ม “Tak city” ระบุว่า “สวัสดีค่ะ พอดีซื้อปลาหมึกในร้านแห่งหนึ่งในจังหวัดตาก หากใครพบเห็นหมึกชนิดนี้ไม่ควรรับประทานนะคะ หมึกชนิดนี้ชื่อว่าบลูริงค่ะ พิษของมันอันตรายถึงชีวิต ปีใหม่นี้ระวังกันด้วยนะคะ ปล.ไม่ได้มีเจตนาทำให้ร้านเสียหาย แต่โพสต์เตือนให้คนซื้อสังเกตในการเลือกซื้อสินค้าค่ะ” ซึ่งมีผู้ให้ความสนใจเข้ามาแสดงความคิดเห็นและแชร์ต่อเรื่องราวกันเป็นจำนวนมาก
จากการติดต่อสอบถามพบว่าเจ้าของเฟซบุ๊กดังกล่าวคือ น.ส.ศิริรัตน์ แสงสี อายุ 22 ปี นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร สาขาวิชาพืชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พิษณุโลก ซึ่งเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 62 ตนกลับบ้านไปฉลองเทศกาลปีใหม่ที่บ้านเกิด จ.ตาก โดยไปซื้อกุ้ง ปลาหมึก ที่ร้านอาหารทะเลแห่งหนึ่งในตัวเมืองตาก ได้เลือกซื้อปลาหมึกมาประมาณ 10 ตัว เป็นเงินจำนวน 180 บาท
น.ส.ศิริรัตน์บอกว่าตอนแรกก็ไม่ได้เอะใจอะไร แต่พอนำปลาหมึกมาล้างทำความสะอาดเอาไส้ปลาหมึกออกเตรียมทำอาหารเย็น พบว่ามีปลาหมึกอยู่ตัวหนึ่งผิดปกติ คือตามตัวมีจุดวงแหวนสีน้ำเงินคล้ายกับเป็นปลาหมึกพิษสายวงน้ำเงินที่เคยดูในสารคดีสัตว์โลกใต้น้ำ เมื่อลองจับดูก็พบว่าแสบๆ ร้อนๆ ที่มือก็รู้สึกหวาดผวาจึงทิ้งไปหมดไม่นำมารับประทานแต่อย่างใด
จากนั้นตนจึงรีบไปเปิดหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตปรากฏว่าเป็นชนิดเดียวกับที่ชื่อว่า “ปลาหมึกบลูริง” ด้วยความเป็นห่วงกลัวว่าจะมีลูกค้าซื้อไปบริโภคก่อนหน้านี้จะเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ เพราะปลาหมึกชนิดนี้มีพิษร้ายแรงกว่างูเห่าถึง 20 เท่า ทำลายระบบประสาทอาจเสียชีวิตทันทีอย่างฉับพลัน จึงไปโพสต์เตือนภัยในกลุ่มโซเชียลมีเดียดังกล่าว พร้อมกับโทร.บอกร้านที่ซื้อมาว่าพบปลาหมึกมีพิษ ซึ่งทางร้านอาหารทะเลก็ขอโทษ แต่ตนก็อยากให้ตรวจสอบให้ดีก่อนจะนำมาจำหน่ายแก่ผู้บริโภคอีกด้วย
น.ส.ศิริรัตน์บอกด้วยว่า อยากฝากเตือนไปถึงผู้บริโภคให้เพิ่มความระมัดระวังและสังเกตเป็นพิเศษ หากพบเจอปลาหมึกมีลักษณะเช่นนี้อย่านำมารับประทานเด็ดขาด และให้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบทันทีเพื่อหาแนวทางการป้องกัน โดยคาดว่าปลาหมึกพิษชนิดนี้อาจจะหลุดมากับปลาหมึกทั่วไป