ศูนย์ข่าวศรีราชา - ภาคธุรกิจพัทยา จี้ รมต.ท่องเที่ยวและกีฬา แก้ปัญหาค่าเงินบาทแข็งทำตลาดหายกว่า 50% แย้งข้อมูลท่องเที่ยวที่ภาครัฐมีไม่สอดคล้องสถานการณ์จริงทำแก้ไขปัญหาไม่ถูกจุด รวมทั้งปัญหาโรงแรมเถื่อนที่มีเกลื่อนเมือง
วันนี้ (28 ธ.ค.) นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมด้วย นายปรเมศร์ งามพิเชษฐ์ ผู้ช่วยรัฐตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและคณะเดินทางมายังเมืองพัทยา เพื่อพบปะตัวแทนจากภาครัฐ-เอกชน รับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์การท่องเที่ยวของเมืองพัทยา ที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา จ.ชลบุรี โดยมีนายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา นำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคธุรกิจท่องเที่ยวให้การต้อนรับ
โดยได้มีการบรรยายสรุปเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวในภาพรวมจากหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งระบุว่า เมืองพัทยา มีจำนวนนักท่องเที่ยวกว่า 18 ล้านคน แยกเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ 10 ล้านคน และคนไทย 8 ล้านคน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวกว่า 2.64 แสนล้านบาท และมีอัตราส่วนการขยายตัวกว่า 10 % นักท่องเที่ยวกลุ่มตลาดหลัก คือ จีน,รัสเซีย,อินเดีย และกลุ่มตะวันออกกลาง
ขณะที่ นายธเนศ ศุภรสหัสรังษี รักษาการประธานสภาอุตสาหกรรม จ.ชลบุรี ในฐานะสมาชิกสภาเมือง แย้งว่าสถิติด้านการท่องเที่ยวดังกล่าวไม่สอดคล้องกับสถานการณ์จริง จึงทำให้ภาครัฐมองไม่เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและไม่มีมาตรการในการสนับสนุนงบประมาณ เพราะปัจจุบันปริมาณนักท่องเที่ยวที่เข้ามายังเมืองพัทยาลดลงกว่า 50 % ถือว่าตกต่ำที่สุด
โดยปัญหาหลักน่าจะเกิดจากค่าเงินบาทที่แข็งจนเกิดไปจนทำให้กลุ่มตลาดหลักหนีหายไปยังเมืองท่องเที่ยวใหม่ อย่าง เวียดนาม กัมพูชา ลาว ฟิลิปปินส์ เป็นต้น ขณะที่ภาครัฐในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านเหล่าก็มีมาตราการส่งเสริมด้านการตลาดและท่องเที่ยวอย่างจริงจัง
“ กรณีนี้ภาครัฐควรให้ความสำคัญและเร่งแก้ไขปัญหา ยกตัวอย่างเช่นโครงการ “ชิม ช้อป ใช้” ที่ในครั้งแรกพบว่าสามารถดึงตลาดภายในประเทศ ได้เป็นอย่างดี แต่เมื่อถึงโครงการในครั้งที่ 2 กลับไม่ได้รับการตอบรับมากนัก ซึ่งภาครัฐเองก็คงจะต้องกลับไปพิจารณาเงื่อนไขและวิธีการใหม่”นายธเนศ กล่าว
เช่นเดียวกับ นายเอกสิทธิ์ งามพิเชษฐ์ นายกสมาคมนักธุรกิจและการท่องเที่ยวเมืองพัทยา ที่บอกว่าอีกปัญหาซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ คือโรงแรมเถื่อนที่จากข้อมูลพบว่าพบว่า เมืองพัทยา มีจำนวนสถานประกอบการโรงแรมมากกว่า 2,700 แห่ง รวมห้องพักกว่า 1.2 แสนห้อง แต่ผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตถูกต้องมีเพียง 300 กว่าแห่งเท่านั้น
แม้ที่ผ่านมาจะมี คสช. ออกคำสั่ง ม.44 เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ ปรับปรุงแก้ไขอาคารให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย แต่ระยะเวลาที่ทางรัฐกำหนดไว้สั้นเกินไป อีกทั้ง ฎหมายผังเมือง สิ่งแวดล้อมหรือกฎหมายควบคุมอาคาร ยังเป็นช่องโหว่ในการดำเนินงานที่ต้องใช้เวลานาน
“ กรณีนี้ทำให้เกิดการท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่คือการจับจอง ซื้อ-เช่าอาคารคอนโดมิเนียมและห้องชุด เพื่อนำไปขายให้กลุ่มทัวร์ต่างชาติ ทำให้รัฐไม่ได้รับประโยชน์ในเรื่องภาษี ผู้ประกอบการที่ถูกต้องจึงมีสัดส่วนการเข้าพักที่น้อยลง และไม่มีการแจ้งตัวเลขเรื่องของจำนวนและรายชื่อนักท่องเที่ยวแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำให้ได้รับข้อมูลที่ไม่ตรงต่อข้อเท็จจริง”
จึงขอให้มีการจัดตั้งศูนย์รับเรื่องที่รวมทุกหน่วยงานเข้ามาดูแลในรูปแบบ One Stop Service เพื่อความสะดวกในการประสานและงาน
นอกจากนั้นที่ประชุมยังได้นำเสนอปัญหาอีกหลายหัวข้อ อาทิ การขอให้ภาครัฐหันมาสนใจและส่งเสริมสนับสนุนงบประมาณในการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวอย่างจริงจัง โดยเน้นการ Rebranding การส่งเสริมด้านการเป็นเมือง Sport city เต็มรูปแบบ ,แก้ไขปัญหาระบบสาธารณูปโภค หรือขนส่งสาธารณะอย่างจริงจัง
โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้รับเรื่องดังกล่าวกลับไปพิจารณาและจะหามาตรการสนับสนุนและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นต่อไป