พิษณุโลก - "จุติ ไกรฤกษ์"ระบุ ครอบครัวเดี่ยวมีอัตราเพิ่มสูงขึ้น ผลให้จำนวนสมาชิกครัวเรือนลดลง จำแนก 6 ข้อก่อนให้พม.เหนือ ระดมแนวคิดรับมือสารพัดปัญหาสังคมไทย แอบชื่นชอบ"ลุงตู่"สร้างผลงาน 5 ปี มีความเข้มแข็งทางสังคมสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก
วันนี้ ( 22 ธันวาคม 2562 )ที่โรงแรมไพลิน อำเภอเมืองจังหวัดพิษณุโลก ได้มีการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง "การพิทักษ์สิทธิของบุคคลในครอบครัว" โดยมีเครือข่ายองค์กรสตรีและอาสาพัฒนาสังคม(อพม.)17 จังหวัด ภาคเหนือ เข้าร่วมประชุม 330 คน จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21 – 22 ธันวาคม 2562 โดยมีนางสาวอุษณี กังวารจิตต์ อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว และผู้แทนจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวง พม.ในพื้นที่ภาคเหนือร่วมเสวนาระดมความคิด โดยมีนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เดินทางมาเป็นประธานเปิดวานนี้(21 ธันวาคม 62)
นายจุติ ไกรฤกษ์ กล่าวว่า ประเทศไทย มีผู้หญิงที่อยู่ในตำแหน่ง บริหารธุรกิจ, บริษัทภาคเอกชน 37% และมีสตรีอยู่ในตำแหน่งผู้บริหารของประเทศถึง 37 % แต่บทบาททางการเมืองยังมีอยู่น้อย ถือว่า ยังห่างไกล โดยมีผู้หญิงทำงานอยู่ในวุฒิสภา 10.5% และ ส.ส. 15.5 % ฉะนั้นบทบาทสตรีจำเป็นที่ต้องมีกฎหมายยกระดับสตรี
ตนเองไปร่วมสัมมนากับองค์การสหประชาชาติ เขาบอกว่า ยินดีกับประเทศไทย เนื่องจาก ลำดับความเข้มแข็งทางสังคมสูงขึ้นมากเป็นอันดับ 2 ของโลก ถือว่า ต้องยกความดีให้ "ลุงตู่"พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่สร้างผลงานไว้ 5 ปีที่ผ่านมา เพราะตนเพิ่งร่วมงานกันเพียง 6 เดือนเท่านั้น
นายจุติ กล่าวว่าครอบครัวไทยเป็นครอบครัวเดี่ยว อัตราเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้จำนวนสมาชิกครัวเรือนลดลง ตามลักษณะเฉพาะ 6 ข้อคือ 1) ครอบครัวพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว คือ ครอบครัวที่พ่อหรือแม่ ต้องเลี้ยงดูบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะโดยลำพัง 2) ครอบครัวข้ามรุ่น คือ ครอบครัวที่มี ปู่ ย่า ตา ยาย อยู่กับหลานตามลำพัง 3) ครอบครัวที่ผู้สูงอายุอยู่ด้วยกันตามลำพัง คือ ครอบครัวที่ประกอบด้วยสมาชิกอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ตั้งแต่สองคนขึ้นไป อยู่ร่วมกันโดยไม่มีสมาชิกช่วงวัยอื่นอาศัยอยู่ด้วย 4)ครอบครัวคู่ รักเพศเดียวกัน คือ ครอบครัวที่มีบุคคลเพศเดียวกันใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยา 5) ครอบครัวผสม คือ ครอบครัวที่ชายหญิงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่าย มีบุตรติดมาและได้สมรสหรืออยู่กินกันฉันสามีภริยาเป็น ครอบครัวใหม่ และบุตรนั้นอาศัยอยู่ด้วยกัน และ 6) ครอบครัววัยรุ่น คือ ครอบครัวที่ชายและหญิงมีอายุต่ำกว่า 20 ปี ใช้ชีวิตร่วมกันฉันสามีภรรยา
นอกจากนี้ ยังพบว่าในอนาคตจะมีครัวเรือนที่จะมีบุคคลที่อาศัยอยู่คนเดียวหรืออาศัยกับบุคคลที่ไม่ใช่ญาติมากขึ้น ทั้งนี้ จากสถานการณ์ดังกล่าว ครอบครัวจึงต้องเผชิญปัญหาที่มีความแตกต่างและหลากหลายรูปแบบ อาทิ ปัญหาความยากจนและหนี้สิน การตั้งครรภ์ของวัยรุ่น ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว การขาดความรู้และทักษะในการอบรมเลี้ยงดูบุตร เด็กและผู้สูงอายุถูกทอดทิ้ง เป็นต้น