๐ “คนใต้หยัดได้” งานสัมมนาเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก ให้ครอบครัวและชุมชนคนภาคใต้
๐ จัดเต็มหลากหลายกิจกรรม พัฒนาทักษะเพิ่มพูนความรู้ และประสบการณ์
๐ ชู 6 กระบวนการสำคัญ เดินหน้าสร้างสุขภาวะเด็ก-เยาวชนอย่างต่อเนื่อง วางรากฐานการพัฒนาสังคมไทย
งานสัมมนาวิชาการระดับภาคเรื่อง “บทเรียนกระบวนการขับเคลื่อนงานเพื่อสุขภาวะเด็กและเยาวชน โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคีในท้องถิ่นภาคใต้” หรือ งาน “คนใต้หยัดได้” ครั้งที่ 2 จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมให้เกิดการระดมความร่วมมือด้านสุขภาวะเยาวชนในภาคใต้ มีจุดเริ่มต้นมาจาก โครงการส่งเสริมองค์กรท้องถิ่นเพื่อพัฒนาสุขภาวะเยาวชน และภาคีท้องถิ่น 16 แห่งของจังหวัดสงขลาและจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อลดปัญหาการตั้งครรภ์ของวัยรุ่น และ ยาเสพติด
โครงการดังกล่าวเริ่มขึ้นเมื่อ 3 ปีก่อน มีจุดเน้นคือ การออกแบบเพื่อพัฒนาสมรรถนะของผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และภาคีที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาวะวัยรุ่น เกิดการเรียนรู้ร่วมกันเพื่อทำงานให้บรรลุเป้าหมาย ด้วยกระบวนการทำงานอันประกอบด้วย 6 ภารกิจหลัก ได้แก่ 1.การสร้างและพัฒนากลไกขับเคลื่อนภารกิจ 2.การส่งเสริมการสื่อสารเชิงบวกในครอบครัว 3.การพัฒนาแกนนำเยาวชนเพื่อสื่อสารกับเยาวชน4.การพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือเยาวชนที่เผชิญปัญหารายกรณี (Case Conference) 5.การส่งเสริมบทบาทสื่อมวลชนท้องถิ่นกับการทำงานเยาวชนเชิงบวก และ 6.เชื่อมโยงการทำงานกับกลไกระดับอำเภอและจังหวัด
ภารกิจดังกล่าวทำให้ภาคีได้เรียนรู้รูปแบบกระบวนการทำงานเชิงคุณภาพ เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับคนทำงานและกลุ่มเป้าหมาย และคณะทำงานได้นำวิธีการไปปรับใช้กับงานท้องถิ่นด้วย
ความสำเร็จของโครงการนี้ทำให้เกิดการจัดงาน “คนใต้หยัดได้” ครั้งที่ 1 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2561 เป็นงานสัมมนาวิชาการระดับจังหวัด มีผู้สนใจจากหน่วยงานต่างๆ ในสงขลาเข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้มากกว่า 300 คน และหลังจากได้เห็นรูปแบบการจัดงานสัมมนาระดับชาติเรื่องสุขภาวะเยาวชน ครั้งที่ 3 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28-30 มกราคม 2562 เป็นการประชุมที่มีการนำบทเรียน เครื่องมือ วิธีการ นวัตกรรม ตัวอย่างคนทำงาน มาเรียนรู้ร่วมกัน จึงนำมาปรับใช้กับงาน “คนใต้หยัดได้” ครั้งที่ 2 ที่ขยายผลจากระดับจังหวัดสู่ระดับภาค ระดมคนทำงานด้านสุขภาวะเยาวชนเด็กและเยาวชนใน 14 จังหวัดภาคใต้ กรุงเทพฯ และประจวบคีรีขันธ์ มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันที่จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 14-15 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา
นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย ประธานในพิธีเปิดการประชุม สัมมนาทางวิชาการระดับภาค “เรื่อง “สุขภาวะเด็กและเยาวชน โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคีในท้องถิ่น” หรือ “คนใต้ หยัดได้” ครั้งที่ 2 และภายในงานมีการมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นแหล่งเรียนรู้
งานสัมมนาฯ เป็นความร่วมมือกันระหว่าง บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ศูนย์อนามัยที่ 11 นครศรีธรรมราช ศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย และมูลนิธิแพธทูเฮลท์ (p2h) โดยมีการคัดสรรบทเรียนและตัวอย่างความสำเร็จของภาคีในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ทำงานด้านส่งเสริมสุขภาวะเยาวชนในภาคใต้ มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมทั้งคัดเลือกผู้เข้าร่วมที่มีความสนใจ ต้องการแนวทางไปทำงานในพื้นที่ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมในภาคใต้อย่างเป็นรูปธรรม
อาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า เชฟรอนเป็นบริษัทพลังงานที่ดำเนินภารกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยมากว่า 56 ปี ไม่เพียงยึดมั่นในพันธกิจสนับสนุนความมั่นคงทางพลังงานของประเทศอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมุ่งมั่นเป็นพันธมิตรที่ดีกับสังคมไทยผ่านการดำเนินโครงการเพื่อสังคมภายใต้กรอบการดำเนินงาน 4 ด้าน คือ การพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต การพัฒนาการศึกษา การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพลังงาน และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพนักงาน
การเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดปัญหาสังคมมากมายต่อเด็ก เยาวชน และครอบครัว เชฟรอน เล็งเห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมให้เยาวชนมีภูมิคุ้มกันและทักษะชีวิตในการรับมือกับปัญหาสังคม เพราะเยาวชนเป็นรากฐานสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศสู่การพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต จึงร่วมดำเนินโครงการนี้ตั้งแต่ปี 2559 มาอย่างต่อเนื่อง
เพ็ญศิริ อัตถาวงศ์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลสงขลา ในฐานะตัวแทนคณะทำงานจัดงานสัมมนาวิชาการระดับภาค “คนใต้หยัดได้” ครั้งที่ 2 กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกว่า 400 คน เป็นการเริ่มต้นสานต่อเครือข่ายของ 14 จังหวัดภาคใต้ในการทำงานเพื่อขับเคลื่อนองค์กรปกครองท้องถิ่น โดยการสนับสนุนจากภาคสาธารณสุข การศึกษา การพัฒนาสังคม รวมทั้งภาคเอกชน และเครือข่ายเยาวชน ในการสร้างสุขภาวะแก่เยาวชนและครอบครัว ซึ่งไม่เพียงจะป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์วัยรุ่น แต่จะสามารถคลี่คลายปัญหาต่างๆ ทั้งโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เอดส์ ยาเสพติด ความรุนแรง ปัญหาสุขภาพจิต และส่งเสริมสุขภาวะของเด็ก เยาวชน และครอบครัว เพื่อความเข้มแข็งของสังคมไทยต่อไป
๐ เสวนา-พัฒนาทักษะ หลากหลายกิจกรรม
ภาพรวมของงานสัมมนาในครั้งนี้ มีปาฐกถาเสริมกำลังใจ ในหัวข้อ “วัยรุ่นดูวุ่นวาย แล้วผู้ใหญ่รับมืออย่างไรดี” โดย ป้ามล-ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก มีห้องย่อยในรูปห้องเสวนา ในหัวข้อต่างๆ ที่น่าสนใจ เช่น “ผู้นำท้องถิ่นกับการทำงานเพื่อเยาวชนอย่างยั่งยืน”, “ครู หมอ พ่อแม่ อปท.ร่วมมือกันแบบไหนเรียกว่าบูรณาการ” เป็นต้น และยังมีห้องพัฒนาทักษะ (Skill Building) รวม 12 ห้อง ซึ่งมีเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ต่อคนทำงานเยาวชน เช่น รูปแบบวิธีการทำงาน บทเรียนความสำเร็จ มุมมองวิสัยทัศน์ของคนทำงานระดับตัวอย่าง และนวัตกรรมการทำงาน เป็นต้น พร้อมทั้งมีกิจกรรมคู่ขนาน “หลาดนัดคนใต้ หยัดได้” แบบลานเรียนรู้ มีตัวอย่างกิจกรรม วงพูดคุยแลกเปลี่ยนแบบไม่เป็นทางการ เวทีเยาวชน และตกผลึกเชื่อมโยงกับการนำไปปรับใช้ในพื้นที่ของผู้เข้าร่วมสัมมนา
“หลาดนัดคนใต้ หยัดได้”กิจกรรมแบบลานเรียนรู้
๐ เรียนรู้จากกิจกรรม สร้างเสริมประสบการณ์
หนึ่งในห้องพัฒนาทักษะที่ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมสุขภาวะเด็กและเยาวชนในโลกยุคใหม่ โดยเฉพาะเมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันอย่างมากคือการพัฒนาทักษะในหัวข้อ “เครื่องมือใหม่ให้พ่อแม่คุยกับลูกยุคในเทคโนโลยี” เนื้อหาสำคัญคือ “การสื่อสารเชิงบวกในบ้าน ป้องกันปัญหาวัยรุ่นได้ทุกเรื่อง” ถ้าเด็กหรือวัยรุ่นในบ้านมีคนเข้าใจ รับฟัง ห่วงใย พูดคุยด้วยดี เป็นที่ปรึกษา พึ่งพิงได้เมื่อเผชิญปัญหา ทำให้ไม่ต้องไปหาความสุข สบายใจนอกบ้าน ถือเป็นจุดเริ่มของการลดปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะจากเรื่องเพศ การตั้งครรภ์ และเริ่มได้ที่พ่อแม่ผู้ปกครองที่ต้องเข้าใจวิถีชีวิต และสื่อสารกับลูกหลานได้ โจทย์ใหญ่วันนี้คือ จะเข้าถึงพ่อแม่อย่างไร จึงต้องทดลองใช้วิธีการเข้าถึง และทำงานกับพ่อแม่ทั้งในชุมชนเมือง ชนบท และในสถานประกอบการ
ซูนา วงพระหัต ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านโคกทึง จ.นครศรีธรรมราช หนึ่งในผู้ร่วมงานครั้งนี้ถ่ายทอดประสบการณ์จากการเข้าร่วมกิจกรรมว่า เป็นการเรียนรู้ที่นำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริงทั้งโดยส่วนตัวและส่วนรวม นอกจากนำไปใช้กับครอบครัว ยังนำการเรียนรู้และประสบการณ์ที่มีไปขยายผลในชุมชนอีกด้วย จากครั้งก่อนได้เข้าร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับพ่อแม่ ได้เรียนรู้เครื่องมือหนึ่งที่สำคัญคือ ปัจจัย “ดึงดูด” ให้เด็กออกนอกบ้าน และปัจจัย “ผลักไส” จากพ่อแม่ทำให้เด็กออกจากบ้าน
ซูนา วงพระหัต ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านโคกทึง จ.นครศรีธรรมราช
เครื่องมือนี้ทำให้พ่อแม่หันมามองตนเองและเข้าใจลูกมากขึ้น เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายสามารถ “สื่อสาร” ไปในทางเดียวกัน เพราะปัญหาของวัยรุ่นกับพ่อแม่คือการ “มองต่างมุม” จึงต้องทำให้เด็กสื่อสารความคิดความรู้สึกจริงๆ ออกมา เพื่อให้พ่อแม่ปรับเปลี่ยนและแก้ปัญหาที่ทำให้ลูกหันหลังให้พ่อแม่และออกจากบ้าน ในครั้งนี้ได้เข้าร่วมกิจกรรม “ผีเสื้อหัดบิน” เป็นการเรียนรู้การสื่อพฤติกรรมของเด็กที่แสดงออกว่าแท้จริงต้องการอะไรจากพ่อแม่ เช่น การยอมรับ ความเชื่อมั่น ฯลฯ ทำให้เกิดความเข้าใจเด็กอย่างลึกซึ้ง
ซูนา เล่าอีกว่า จากการที่มีลูกอยู่ในช่วงวัยรุ่น 2 คน เพศชายอายุ 15 ปีและเพศหญิงอายุ 18 ปี มีปัญหาเรื่องแฟน การใช้โทรศัพท์ นอนดึก ฯลฯ ทำให้เมื่อก่อนนี้เกิดความเครียดกับพฤติกรรมของลูกอยู่บ่อยๆ แต่เมื่อได้เรียนรู้จากกิจกรรมที่ให้พ่อแม่ย้อนดูตัวเองเมื่อสมัยเป็นวัยรุ่นว่ามีพฤติกรรมที่ก่อปัญหาเช่นกัน ทำให้เกิดความเข้าใจและปรับเปลี่ยนความคิด หันมาใช้ “การสื่อสารทางบวก” เช่น กอดลูกและบอกรักมากขึ้น ฟังลูกด้วยความเข้าใจ ไม่ตำหนิ ต่อว่า หรือแสดงความระแวง แต่ถามเหตุผลและชี้แนะว่าสิ่งที่ทำจะเกิดผลอย่างไร แล้วให้ลูกคิดและตัดสินใจเลือกทำด้วยตัวเอง พร้อมทั้งลดความเข้มงวดและคาดหวังที่มากเกินไป ทำให้ลูกไม่เครียด กล้าบอกเล่าความคิดและเรื่องราวต่างๆ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือลูกมีความรับผิดชอบต่อตนเองมากขึ้น เช่น รู้หน้าที่ ขออนุญาตเมื่อต้องการกลับบ้านช้ากว่าปกติ ฯลฯ
ในยุคเทคโนโลยีโดยเฉพาะการสื่อสารอันรวดเร็วทำให้เด็กและเยาวชนมีความเสี่ยงมากขึ้น แต่หากพ่อแม่หรือครอบครัวมองว่าทุกปัญหาแก้ไขได้ หรือบางครั้งไม่ใช่ปัญหาแต่เป็นเพียงการสื่อสารที่ยังไม่ถูกต้อง ซึ่งวิธีการคือฟังและเข้าใจ โดยพ่อแม่ไม่จำเป็นต้องใช้สื่อใหม่ๆ ได้ทั้งหมด เพียงแต่เปิดรับจากลูกจะทำให้ลูกรู้จักเสพสื่อ สามารถแก้ไขปัญหา ทำให้เกิดความใกล้ชิด และความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันในครอบครัวมากขึ้น
อาจารย์จักรกฤษฎ์ แก้วประเสริฐ หัวหน้าหลักสูตรสาขาวิชาเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย
๐ บอกต่อเรื่องราวดีๆ สู่สังคมผ่านสื่อทันสมัย
การนำเทคโนโลยีสื่อสารในปัจจุบันที่สามารถเข้าถึงมาใช้ประโยชน์อย่างง่ายๆ จะกลายเป็นเครื่องมือที่ช่วยพัฒนาและเผยแพร่การส่งเสริมสุขภาวะเด็กและเยาวชนได้ดียิ่งขึ้น อาจารย์จักรกฤษฎ์ แก้วประเสริฐ หัวหน้าหลักสูตรสาขาวิชาเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยากรกิจกรรม “พัฒนาทักษะ” ในหัวข้อ “เทคนิคผลิตสื่อบนมือถือง่ายๆ ด้วยปลายนิ้ว” กล่าวว่า เนื่องจากเกือบทุกคนใช้สมาร์ทโฟนเป็นเครื่องมือสื่อสารในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ดังนั้น การเรียนรู้เทคนิคการผลิตวิดีโอคลิปซึ่งเป็นสื่อที่มีทั้งภาพเคลื่อนไหวและเสียง สามารถดึงดูดผู้ชมได้มากกว่าภาพนิ่งและตัวอักษร จึงเป็นประโยชน์ในการเผยแพร่เรื่องราวที่ต้องการบอกต่อ
นอกจากคนที่เข้าร่วมโครงการจะได้ประโยชน์แล้ว ทำให้คนที่ยังไม่ได้เข้าโครงการมีโอกาสได้รับรู้ด้วย และยังสามารถนำไปใช้ได้อีกด้วย เช่น คลิปวิธีการพูดคุยกับลูกอย่างสร้างสรรค์ที่ช่วยแก้ปัญหาของครอบครัวได้ หรือคลิปบอกเล่าประโยชน์ที่ได้รับหลังจากเข้าร่วมกิจกรรม เป็นต้น เป็นการใช้สื่อออนไลน์ที่มีอยู่แล้วของแต่ละคน เช่น Facebook, YouTube เผยแพร่เรื่องราวดีๆ ออกสู่สังคม