เชียงราย – โครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในพื้นที่จ.ภาคเหนือตอนบนนำคณะประชุมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อมูลการพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน จ.เชียงราย ซึ่งภาคเอกชนคาดหวังได้เห็นเป็นรูปธรรม
ที่ ห้องตองจี โรงแรมแม่โขงเดลต้า อ.แม่สาย จ.เชียงราย นายสกนธ์ สัจจานิตย์ รองประธานกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) พบประชาชนในพื้นที่ จ.ภาคเหนือ (ตอนบน) ได้นำคณะเดินทางไปจัดการประชุมพิจารณารับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อมูลการพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน จ.เชียงราย โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ข้อมูลด้านต่างๆ เพื่อนำไปพิจารณาสำหรับขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวตามบทบาทของวุฒิสภา เช่น ข้อกฎหมาย ความก้าวหน้าที่ผ่านมา ฯลฯ
โดยครั้งนี้มีนายสมศักดิ์ คณาคำ นายอำเภอแม่สาย นายอนุรัตน์ อินทร ประธานหอการค้า จ.เชียงราย น.ส.ผกายมาศ เวียร์รา รองประธานหอการค้า จ.เชียงราย และประธานหอการค้า อ.แม่สาย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนรวมถึงภาคประชาสังคมเข้าร่วมครบครัน
พล.อ.สกนธ์ กล่าวว่าการจัดประชุมครั้งนี้เพื่อติดตามการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติในประเด็นเรื่องการค้าชายแดน ซึ่งจากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากฝ่ายต่างๆ ดังกล่าวพบว่า อ.แม่สาย มีความเหมาะสมและมีศักยภาพในด้านการเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนและการขนส่งของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงหรือจีเอ็มเอส เขตส่งเสริมการลงทุนและการค้าชายแดน และเป็นศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศ การท่องเที่ยว และบริการ อย่างไรก็ตามควรมีการทำข้อตกลงหรือเอ็มโอยูทางด้านเศรษฐกิจและการค้าชายแดนระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นเขตพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ อ.แม่สาย ได้ตามนโยบายของรัฐบาล
ด้านนายสมศักดิ์ กล่าวว่าที่ผ่านมาเคยมีการพิจารณาจะจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่ อ.แม่สาย แต่มีปัญหาอุปสรรคเกี่ยวกับปัญหาการจัดหาที่ดินของรัฐเพื่อใช้ประโยชน์ในเขตพัฒนาคือพื้นที่ ต.โป่งผา โดยมีการพิจารณาจะใช้ที่ดินราชพัสดุในการดูแลของการยาสูบแห่งประเทศไทยเป็นพื้นที่จัดตั้งแต่ก็ได้รับการร้องเรียนว่าจะส่งผลกระทบต่อราษฎรกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกยาสูบจำนวนประมาณ 100 ราย ซึ่งเป็นผู้ที่เช่าที่ดินเพื่อปลูกยาสูบจำนวน 870 ไร่มาตั้งแต่ปี 2515 ดังนั้นทาง อ.แม่สาย จึงมีการขอเสนอให้รัฐบาลเปลี่ยนแนวคิดการบริหารจัดการเรื่องเขตจากการจะใช้ที่ดินของรัฐมาเป็นการนำเสนอการบริหารจัดการโดยภาคเอกชนและให้เข้าดำเนินการโดยรัฐเป็นผู้สนับสนุนด้านการลงทุน (บีโอไอ) และการสาธารณูปโภค
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ประชุมทางภาครัฐและเอกชน อ.แม่สาย ยังเสนอให้ใช้พื้นที่ดำเนินการย้ายไปยัง ต.เวียงหอม ในเขตเทศบาล ต.แม่สายมิตรภาพ ใกล้จุดผ่อนปรนบ้านท่าดินดำ และจุดผ่อนปรนบ้านปางห้า องค์การบริหารส่วน ต.เกาะช้าง ชายแดนไทย-เมียนมา ติดลำน้ำสายและลำน้ำรวกตามลำดับ รวมเนื้อที่ประมาณ 3,000 ไร่ โดยในเขตเศรษฐกิจพิเศษให้มการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารและผู้จัดการบริหารเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษแม่สาย–เชียงแสนและเชียงของ ไปพร้อมๆ กันเพื่อให้เกิดผลอย่างรวดเร็วในการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
นอกจากนี้เสนอให้สร้างสถานีขนส่งมวลชนชายแดนไปยังกระทรวงคมนาคมโดยให้มีการตั้งคณะทำงานและให้ผู้เชี่ยวชาญมาศึกษา เพื่อเชื่อมไปยังเมืองต่างๆ ของประเทศเพื่อนบ้านและจีนตอนใต้ คือ เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา จีนตอนใต้ เมืองหลวงน้ำทา เมืองหลวงพระบาง สปป.ลาว เมืองเชียงตุง เมืองตองยี และเมืองมัณทะเลย์ ประเทศเมียนมา ซึ่งทาง พล.อ.สกนธ์ รับว่าจะนำข้อเสนอทั้งหมดและข้อมูลที่ได้นำไปหารือกันดำเนินการต่อไป
ด้าน น.ส.ผกายมาศ เปิดเผยว่าหอการค้า จ.เชียงราย ได้นำเสนอให้มีการผลักดัน อ.แม่สาย ให้เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษออย่างรวดเร็วด้วยการเร่งรัดให้เปิดเป็นเขตปลอดอากรประชิดชายแดนไทย-เมียนมา โดยใช้กฎหมายศุลกากรเป็นหลัก รวมทั้งมีการพิจารณาเรื่องการนำเงินเข้า-ออก ให้มีความสะดวกมากขึ้นสอดคล้องกับการค้าที่เติบโตขึ้นและทำให้การชำระค่าสินค้าตามใบขนศุลกากรมีความสะดวกซึ่งจะเอื้อต่อการค้าระหว่างประเทศได้มากขึ้นด้วย
นอกจากนี้ยังเสนอให้มีการประชับความสัมพันธ์ไทย-เมียนมา โดยมีการทำเอ็มโอยูตามกรอบความร่วมมือการเป็นบ้านพี่เมืองน้องหรือซิสเตอร์ ซิตี้ โดยเฉพาะเชียงราย-รัฐฉาน รวมทั้งยังได้เสนอให้มีการติดตามผลการประชุมคณะรัฐมนตรีที่ทางสภาหอการค้าไทยได้เคยขอให้พิจารณาให้ชาวเมียนมาสามารถใช้หนังสือเดินทางระหว่างประเทศหรือพาสปอร์ตเดินทางเข้ามายังประเทศไทยโดยใช้วีซ่าเมื่อมาถึงหรือVisa on Arrivalได้ทางชายแดนทางบกด้วย
อนึ่งตั้งแต่ปี 2557 ทางคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ได้กำหนดให้มีการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย 3 อำเภอคือ อ.แม่สาย อ.เชียงแสน และ อ.เชียงของ รวม 21 ตำบล ในพิเศษระยะที่ 2 พร้อมกับ จ.กาญจนบุรี จ.หนองคาย จ.นครพนม และ จ.นราธิวาส โดยมีการศึกษาพื้นที่ อ.แม่สาย ดังกล่าว
ส่วน อ.เชียงแสน ศึกษาให้ใช้ที่ดินซึ่งส่วนใหญ่เป็นเขตปฏิรูปที่ดินใกล้ท่าเรือแม่น้ำโขงเชียงแสนแห่งที่ 2 ต.บ้านแซว เนื้อที่ 651 ไร่ 3 งาน 52 ตารางวา แต่ติดปัญหาเรื่องราคาที่ดินที่พุ่งสูงขึ้น และ อ.เชียงของ ศึกษาที่พื้นที่ป่าชุมชนเขต ต.บุญเรือง เนื้อที่ประมาณ 2,322 ไร่ หรือพื้นที่ 530 ไร่ เขตบ้านทุ่งงิ้ว ต.สถาน แต่ภาคประชาชนร้องเรียนว่าเป็นป่าชุมชนและเกรงจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจึงยังไม่มีการพิจารณาจัดตั้ง ณ สถานที่ใดๆ กระทั่งทางคณะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เดินทางไปรับทราบข้อมูลในครั้งนี้ดังกล่าวโดยมีการเดินทางไปตรวจเยี่ยมพื้นที่ชายแดนทั้งด้าน อ.เชียงของ อ.เชียงแสน และ อ.แม่สาย ตั้งแต่วันที่ 20-21 ธ.ค.นี้.