xs
xsm
sm
md
lg

แล้งเร็ว! ชาวนา-เกษตรกรเมืองแปดริ้วเดือดร้อนหนัก องค์กรท้องถิ่นต้องเร่งผันน้ำช่วย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ฉะเชิงเทรา - อบจ.ฉะเชิงเทรา เร่งนำรถแบ็กโฮแขนยาวขุดลอกคูคลองในพื้นที่ อ.เมือง และบางน้ำเปรี้ยว หวังผันน้ำดิบต้นทุนสู่คลองสาขาช่วยเกษตรกรและชาวนาให้มีน้ำใช้ตลอดฤดูเก็บเกี่ยว หลังภัยแล้งมาเยือนเร็วกว่าทุกปี

วันนี้ (21 ธ.ค.) นายกิตติ เป้าเปี่ยมทรัพย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้นำเจ้าหน้าที่พร้อมรถแบ็กโฮแขนยาว จำนวน 4 คัน และทุ่นลอย (เรือพอนทูน) ลงพื้นที่ท้องทุ่งโพรงอากาศ ซึ่งเป็นเขตรอยต่อระหว่าง อ.บางน้ำเปรี้ยว และ อ.เมืองฉะเชิงเทรา เพื่อทำการแหวกวัชพืชเปิดร่องน้ำในลำคลอง ให้น้ำได้ไหลผ่านเข้าสู่พื้นเกษตรกรรมของชาวบ้านสะดวกมากขึ้น

หลังสำนักงานชลประทานที่ 11 ได้เริ่มปล่อยมวลน้ำดิบต้นทุนผ่านคลองแสนแสบ ช่วยเหลือชาวนาและเกษตรกรในพื้นที่หลังประสบปัญหาภัยแล้งลุกลามอย่างรวดเร็ว

นายกิตติ เผยว่า นับตั้งแต่ช่วงต้นเดือน ธ.ค.เป็นต้นมา ชาวนาในพื้นที่ต้องพากันได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาน้ำในลำคลองสายหลักที่ใช้หล่อเลี้ยงพื้นที่เกษตรกรรมได้แห้งขอดลงอย่างรวดเร็วกว่าทุกๆ ปีที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากจะทำให้นาข้าวที่กำลังตั้งท้องเริ่มขาดน้ำแล้ว บ่อเลี้ยงกุ้งและบ่อเลี้ยงปลาของชาวบ้านก็กำลังจะได้รับความเสียหายเช่นกัน

“อบจ.ฉะเชิงเทรา ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในปัญหาของชาวบ้านที่กำลังเดือดร้อน จึงประสานไปยัง นายระพี ผ่องบุพกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ในการขอน้ำจากสำนักงานชลประทานที่ 11 ให้ช่วยผันน้ำเข้ามาในลำคลองแสนแสบ เพื่อช่วยพยุงต้นข้าวในท้องทุ่งที่เหลือเวลาเก็บเกี่ยวอีกประมาณ 1 เดือนให้มีน้ำหล่อเลี้ยงไปจนสิ้นฤดูกาล”

แต่ปัญหาที่พบในปัจจุบันคือ ลำคลองทุกสายมีวัชพืชกีดขวางทางน้ำอยู่เป็นจำนวนมากโดยเฉพาะผักตบชวา จนทำให้น้ำไม่สามารถไหลเข้ามาสู่ลำคลองสาขาได้อย่างสะดวก

นอกจากนั้น ยังจะเร่งกำจัดวัชพืชในลำคลองอีกหลายแหล่ง ทั้งในพื้นที่ อ.เมืองฉะเชิงเทรา และ อ.บางน้ำเปรี้ยว รวม 4 จุด เพื่อให้สามารถผันนำลงสู่คลองสาขาต่างๆ ได้ ซึ่งการเร่งขุดลอกคูคลองในครั้งนี้ เป็นไปตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งช่วยเหลือเกษตรกร ภายใต้ชื่อโครงการ “คลองสวย น้ำใส” เพื่อใช้เป็นพื้นที่ในการกักเก็บน้ำให้เกษตรกรได้มีน้ำใช้ไปจนตลอดฤดูกาลเก็บเกี่ยว












กำลังโหลดความคิดเห็น