เชียงใหม่ - การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยชวนชิม 50 ร้านมิชลินเชียงใหม่ พร้อมชูแนวทางส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหาร ขยายเพดานรายได้ท่องเที่ยวต่อหัวของเชียงใหม่
นายธเนศวร์ เพชรสุวรรณ รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. พร้อมด้วย นายวิรุฬ พรรณเทวี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมเปิดตัวร้านอาหารรางวัลมิชลินจังหวัดเชียงใหม่ ปี 2563 ณ ร้านอาหาร Le Coq d’Or อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ค่ำที่ผ่านมา (19 ธ.ค. 62)
นายธเนศวร์ เพชรสุวรรณ เปิดเผยว่า ตามที่ ททท.ได้ร่วมกับมิชลินจัดทำคู่มือรวบรวมรายชื่อโรงแรมและร้านอาหารเป็นปีที่ 3 ภายใต้ชื่อ “MICHELIN Guide Thailand 2020” ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ภูเก็ต และพังงา รวมถึงเป็นครั้งแรกสำหรับการจัดอันดับร้านอาหารในจังหวัดเชียงใหม่
และนับเป็นข่าวดีอย่างยิ่งที่ปีนี้จังหวัดเชียงใหม่ได้รับสัญลักษณ์รับรอง “บิบกูร์มองด์” ซึ่งแนะนำร้านโปรดของผู้ตรวจสอบมิชลินที่เสิร์ฟอาหารคุณภาพดีในราคาไม่เกิน 1,000 บาท (ราคานี้เป็นราคาอาหาร 3 คอร์ส ไม่รวมเครื่องดื่ม) จำนวนถึง 17 ร้าน ได้แก่ ไก่ย่างเชิงดอย จินเจอร์ฟาร์มคิตเช่น คั่วไก่นิมมาน ฮ้านถึงเจียงใหม่ เฮือนสุนทรี เฮือนม่วนใจ๋ ข้าวซอยแม่มณี ข้าวต้มย้ง (สาขา ถ.สุเทพ) ครัวย่า มีนามีข้าว ราชารส เดอะเฮ้าส์บายจินเจอร์ ก๋วยเตี๋ยวเนื้อวัวรสเยี่ยม ครัวอาจารย์สายหยุดและหมอทราย ขนมจีนสันป่าข่อย ไก่ย่าง เอส พี และ ณ จันตรา และได้รับสัญลักษณ์ “มิชลินเพลท” หรือร้านอาหารคุณภาพ ที่ใช้วัตถุดิบสดใหม่และปรุงอย่างพิถีพิถัน จำนวน 33 ร้าน
จังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดท่องเที่ยวหลักของประเทศไทย และหนึ่งในจุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับนักท่องเที่ยวทั่วโลก ที่โดดเด่นทั้งในเชิงวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของอาณาจักรล้านนา แหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ และเอกลักษณ์ด้านอาหารการกิน ทั้งอาหารถิ่นและอาหารระดับนานาชาติ เหมาะแก่การเดินทางท่องเที่ยวในทุกฤดูกาลตลอดทั้งปี
ระหว่างเดือนมกราคม-ตุลาคม 2562 จังหวัดเชียงใหม่มีรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.91 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวยังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยนักท่องเที่ยวชาวไทยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อวันเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.90 และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อวันเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.81 อีกทั้งค่าใช้จ่ายด้านอาหารและเครื่องดื่มยังถือเป็นหมวดค่าใช้จ่ายสำคัญที่เติบโตขึ้นมากที่สุดเช่นกัน
การได้รับรองจากมิชลินในครั้งนี้จึงถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือการันตีถึงมาตรฐานด้านอาหารของจังหวัดเชียงใหม่ว่าเป็นที่ยอมรับในระดับสากล อันจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้ ททท.สามารถขับเคลื่อนการกระตุ้นค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวในด้านอาหาร และพัฒนาต่อยอดสู่การท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) ขยายเพดานรายได้ท่องเที่ยวต่อหัวของนักท่องเที่ยวเชียงใหม่ต่อไปในอนาคตได้