xs
xsm
sm
md
lg

‘ภูฏาน’ ยก อพท. ผู้นำท่องเที่ยวยั่งยืน ชูเชียงคานก้าวสู่ Green Destination

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ภูฏาน” สนใจดึง อพท.นำองค์ความรู้ด้านการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนไปถ่ายทอดให้กับบุคลากรของภูฏาน เพื่อวางรากฐานการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน อพท.นำเชื่อมโยงกับเลย ยกระดับภาคีเครือข่ายท่องเที่ยวยั่งยืนครอบคลุมหลากหลายมิติ

ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ รองผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ได้นำ ฯพณฯ นายเชวัง โชเฟล ดอร์จี (H.E. Mr. Tshewang Chophel Dorji) เอกอัครราชทูตแห่งราชอาณาจักรภูฏานประจำประเทศไทย เดินทางเยือนจังหวัดเลย เพื่อเยี่ยมชมหน่วยงานที่เป็นภาคีเครือข่ายการทำงานของ อพท. ทั้งในพื้นที่อำเภอเมืองเลย และอำเภอเชียงคาน ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายหลักของ อพท.ในการนำเอาเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria) ของสภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลกไปประยุกต์ใช้อย่างเต็มรูปแบบ โดยวางตำแหน่งเชิงกลยุทธ์ให้เชียงคานสามารถก้าวขึ้นสู่ Top 100 Green Destinations ภายใน 1-2 ปีข้างหน้า

โดยภาคีเครือข่ายของ อพท.ที่เอกอัครราชทูตภูฏานได้เยี่ยมชม ได้แก่ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเลย มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย ชุมชนเทศบาลตำบลเชียงคาน จุดก่อสร้าง Skywalk ที่ภูคกงิ้ว ชุมชนบ้านท่าดีหมี ศูนย์วัฒนธรรมไทดำบ้านนาป่าหนาด ทำให้เอกอัครราชทูตภูฏานได้เห็นภาพการทำงานของภาคีเครือข่ายที่หลากหลายมิติ ซึ่งต่างมีส่วนร่วมกับ อพท. โดยเฉพาะสำนักงานพื้นที่พิเศษเลย หรือ อพท.5 ของ อพท.ในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนทั้งทางตรงและทางอ้อม

ทั้งนี้ ในการประชุมสรุปผลการเยี่ยมชมภาคีเครือข่ายของ อพท. เอกอัครราชทูตภูฏาน ได้หารือกับนายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย รองผู้อำนวยการ อพท. และผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ เกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือระหว่างภูฏานกับเลย ในเบื้องต้นทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันที่จะมีความร่วมมืออย่างน้อย 3 สาขา ได้แก่ การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน การศึกษาและวัฒนธรรม และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สภาการท่องเที่ยวแห่งภูฏาน (Tourism Council of Bhutan หรือ TCB) ควรร่วมมือกับ อพท.ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์กับ อพท. ในการนำเอาเกณฑ์ GSTC ไปใช้อย่างเป็นระบบ

“ปัจจุบันประเทศภูฏานมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางไปเยือนมากขึ้นทุกปี โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่อยู่ใกล้กับประเทศภูฏาน จึงมีความกังวลว่าแหล่งท่องเที่ยวจะเกิดการเสื่อมโทรม แต่ทราบจาก อพท.ว่าเกณฑ์ GSTC มีมาตรฐาน 4 ด้าน ซึ่งรวมถึงเกณฑ์ในการกำหนดขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวของพื้นที่ด้วย ซึ่ง อพท. มีความเชี่ยวชาญในการใช้เกณฑ์ดังกล่าวในพื้นที่พิเศษของ อพท. และจากการเดินทางมาเยือนจังหวัดเลยของเอกอัครราชทูตภูฏาน ถึง 2 ครั้ง ทำให้เห็นประโยชน์ของการนำเกณฑ์ GSTC มาใช้กำหนดมาตรฐานให้กับแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งภูฏานควรเรียนรู้เรื่องนี้จาก อพท. จึงสนใจที่จะให้ อพท.ไปอบรมให้ความรู้ด้านการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนให้กับบุคลากรของภูฏาน ซึ่งกำลังเผชิญความท้าทายกับกระแสนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไปเที่ยวในภูฏานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง” รองผู้อำนวยการ อพท.กล่าว

ช่วงต้นปี 2563 เอกอัครราชทูตภูฏานจะนำเสนอแนวคิดดังกล่าวกับหน่วยงานของภูฏาน โดยเฉพาะ TCB ซึ่ง อพท. และ TCB เคยมีความพยายามที่จะสร้างความร่วมมือระหว่างกันเมื่อช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลและผู้บริหารภายในของภูฏาน ปัจจุบันนี้มีกลไกภายในของภูฎานมีความชัดเจนแล้ว การริเริ่มความร่วมมือดังกล่าวน่าจะเริ่มได้ในเร็วๆนี้ โดยจะครอบคลุมทั้งเรื่องการฝึกอบรม การและเปลี่ยนการศึกษาดูงาน รวมถึงการทำวิจัยร่วมกันเพื่อไปนำเสนอในเวทีระหว่างประเทศร่วมกัน

รองผู้อำนวยการ อพท.ได้เสนอว่า เพื่อให้ความร่วมมือของทั้งสองฝ่ายสามารถเริ่มต้นได้ทันทีในเชิงสัญลักษณ์ จึงเสนอให้เอกอัครราชทูตภูฏานส่งเยาวชนภูฏานที่กำลังศึกษาอยู่ในประเทศไทย ไปร่วมงานกาชาดดอกฝ้ายบานที่จังหวัดเลย ระหว่างวันที่ 1-9 กุมภาพันธ์ 2563 โดยมีกิจกรรมร่วมเดินแฟชั่นโชว์ชุดประจำชาติ การทำอาหารพื้นถิ่น และการจัดนิทรรศการเพื่อแนะนำประเทศภูฏานให้กับผู้มาเยี่ยมชมงานดังกล่าว ซึ่งถือเป็นงานยิ่งใหญ่ที่สุดงานหนึ่งของจังหวัดเลย ทั้งนี้ ในช่วงเวลาดังกล่าว มหาวิทยาลัยราชภัฏเลยและวิทยาลัยอาชีวศึกษาเลย จะจัดกิจกรรมให้เยาวชนภูฏานได้มาร่วมแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างกันด้วย ซึ่งเอกอัครราชทูตภูฏานและผู้ว่าราชการจังหวัดเลยเห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง

นอกจากนี้ เอกอัครราชทูภูฏานได้เชิญผู้ว่าราชการจังหวัดเลย รวมทั้งผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และชุมชน จัดคณะไปเยือนภูฏานในปี 2563 เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิถีชีวิตและวัฒนธรรม รวมถึงทำความรู้จักกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของภูฏาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนความร่วมมือที่แนบแน่นระหว่างกันต่อไป






กำลังโหลดความคิดเห็น