xs
xsm
sm
md
lg

อพท.ดึงผู้เชี่ยวชาญร่วมต่อยอดการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อพท.ผุดโครงการ CT Brain Bank เชิญผู้เชี่ยวชาญทุกสาขาที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ร่วมคิดต่อยอดกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ใน 6 พื้นที่พิเศษก่อนผลักดันเข้าสู่ตลาด หวังเป็นทางเลือกให้นักท่องเที่ยวเพิ่มวันพัก ช่วยกระจายรายได้ลงชุมชน ขณะที่ 2 กูรูจากสภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลกชื่นชมกิจกรรม ลั่นยินดีหนุน อพท.ช่วยพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน

พ.อ.ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า ได้จัดทำโครงการ Creative Tourism Brain Bank หรือ CT Brain Bank เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยว 30 คนจากหลากหลายสาขาอาชีพมาร่วมระดมสมอง และร่วมคัดเลือกทำกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ของ อพท. เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะก่อนนำไปปรับปรุงและนำเสนอขายทางการตลาดตามลำดับ โดยโครงการนี้จะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2561 เมื่อสิ้นสุดโครงการ อพท.จะได้ชุดความรู้จากการพัฒนาเป็นคู่มือการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์แบบครบวงจรเล่มแรกของโลก ที่รวบรวมรูปแบบการทำงานร่วมกันทั้งห่วงโซ่คุณค่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

สำหรับ CT Brain Bank เป็นโครงการที่ขยายผลมาจากการที่ อพท.ได้สืบค้นวิถีชีวิตของชุมชนใน 6 พื้นที่พิเศษ และคัดเลือกได้ 39 กิจกรรมที่น่าสนใจและมีศักยภาพพอที่จะพัฒนาต่อยอดให้เป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ เช่น กิจกรรมวิถีประมง กิจกรรมทอผ้า ปักผ้า การปั้นและวาดลายสังคโลก การทำอาหารถิ่น การทำของที่ระลึกจากสมุนไพรพื้นบ้าน เป็นต้น โดยจะนำผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่ทดสอบกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ นำร่อง 2 จังหวัด คือ จังหวัดสุโขทัย ทดลองทำกิจกรรมเกี่ยวกับการปั้น การวาดลวดลายสังคโลก การทอผ้า และจังหวัดน่าน ทดลองทำตุงค่าคิง โคมมะเต้า การปักผ้าหน้าหมอน เป็นต้น โดยการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ คือ การนำวิถีชีวิตของชุมชนมาต่อยอดเป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวได้ลงมือทำโดยการมีส่วนร่วมกับเจ้าของวัฒนธรรมนั้น ก่อให้เกิดการเรียนรู้ระหว่างกัน นักท่องเที่ยวจะได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ เกิดความประทับใจ และเกิดความคิดนำไปสร้างสรรค์ให้เป็นผลงานอื่นๆ ที่สำคัญการมีกิจกรรมการท่องเที่ยวจะช่วยให้นักท่องเที่ยวใช้เวลาเที่ยวและพำนักนานวันขึ้น เกิดการกระจายรายได้ลงสู่ชุมชนท้องถิ่นมากขึ้น

“ทีมผู้เชี่ยวชาญจะร่วมให้คำปรึกษาเพื่อให้ข้อเสนอแนะ และร่วมปรับโฉมเพื่อให้มีเสน่ห์และร่วมสมัย บนฐานอัตลักษณ์ของชุมชน โดยพัฒนาภายใต้แนวคิด 3 S คือ 1) Story Telling มีการสืบค้นเรื่องราวศิลปะ และสร้างศิลปิน 2) Senses มีการออกแบบให้ได้อรรถรสของกิจกรรมครบทั้ง 5 ประสาทสัมผัส และ 3) Sophistication นำเสนอผ่านรูปแบบการตลาดใหม่ๆ ร่วมกับผู้ประกอบการนำเที่ยวรุ่นใหม่ที่ดำเนินธุรกิจเพื่อสังคม ส่วนความร่วมมือที่ได้รับจาก บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) คือหนุนเสริมการตลาดให้เข้มแข็ง จากทีมพันธมิตร เช่น สายการบิน โรงแรมบูติก มาร่วมปั้นกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดต่อไป”

นอกจากนี้ยังได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก คือ นายแรนดี้ เดอร์แบนด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Council หรือ GSTC) และ ดร. มีฮี คัง ผู้อำนวยการหลักสูตรภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค GSTC เดินทางลงพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน ทดลองทำกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ได้แก่ การทำโคมมะเต้า ทดลองปั้นเครื่องปั้นดินเผาบ่อสวก ทดลองสานตะแหลว ทำสวยดอกไม้ ทำตุงค่าคิง และแกะสลักพระไม้ โดยการนำผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนทั้งสองร่วมทดสอบกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ เพื่อ อพท.จะได้ขอคำแนะนำ สำหรับเป็นข้อมูลที่จะใช้ปรับปรุงให้กิจกรรมสามารถนำเสนอต่อนักท่องเที่ยว และตอบสนองต่อตลาดการท่องเที่ยวในระดับสากลได้อย่างเป็นรูปธรรม เบื้องต้นผู้เชี่ยวชาญแสดงความชื่นชอบในกิจกรรมที่ อพท. นำเสนอ พร้อมให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ โดยให้ความเห็นว่า รูปแบบกิจกรรมในแต่ละอย่างมีจุดขายของตัวเองดี โดยได้เสนอแนะให้ อพท.พัฒนาเพิ่มเติม คือ ให้มีเรื่องเล่าที่น่าสนใจ เช่น เรื่องเล่าในแต่ละกิจกรรมที่สะท้อนวิถีชีวิตอัตลักษณ์ที่จริงแท้ การจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการทำกิจกรรม การลำดับโปรแกรมการท่องเที่ยวเพื่อสร้างความน่าสนใจให้กับกิจกรรม และการมุ่งเน้นเรื่องการกระจายผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวไปสู่ชุมชน

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GSTC กล่าวว่า การเดินทางลงพื้นที่และร่วมทำกิจกรรมครั้งนี้ทำให้เข้าใจบทบาทการทำงานและความสำคัญของ อพท.มากยิ่งขึ้น และขอชื่นชมแนวทางการทำงานของ อพท.ที่มุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพของชุมชนให้บริหารจัดการการท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืน และให้ความสำคัญกับความอยู่ดีมีสุขของชุมชนอย่างแท้จริง ซึ่งสามารถรับรู้ได้จากการสัมผัสกับชุมชนตลอดการลงพื้นที่ที่ทดสอบกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ และยินดีที่จะประสานความร่วมมือกับ อพท.อย่างใกล้ชิดต่อไป เพื่อนำไปสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของประเทศไทย



กำลังโหลดความคิดเห็น