หนองคาย-เกษตรกรชาวหนองคาย หันหลังให้ยางพาราหลังราคาตกต่อเนื่อง ตัดสินใจโค่นทิ้ง ปลูกทุเรียนหมอนทองและก้านยาว เผยใช้เทคนิคออกดอกนอกฤดูติดผลเร็ว ได้ทุเรียนกินก่อนภาคตะวันออก ยอดจองทุเรียนคาต้นเพียบ
วันนี้ (13ธ.ค.62) นายเวียน ธรรมสอน หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร สำนักงานเกษตรจังหวัดหนองคาย นำคณะลงพื้นที่เยี่ยมชมการปลูกทุเรียนที่สวนของนายธงชัย บุญชู อายุ 55 ปี ที่บ้านห้วยหมากพริก ต.ด่านศรีสุข อ.โพธิ์ตาก จ.หนองคาย ซึ่งมีการปลูกทุเรียนทั้งพันธุ์หมอนทอง และก้านยาว ขณะนี้ได้ผลักดันให้เป็นสวนเกษตรตัวอย่าง และเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ให้เกษตรกรรายอื่นๆ ศึกษาดูงานด้วย
นายธงชัย บุญชู เจ้าของสวนทุเรียน กล่าวว่าก่อนหน้านี้ได้ปลูกยางพาราประมาณ 50 ไร่ แต่หลังจากราคายางพาราตกต่ำ และเห็นว่ามีเพื่อนบ้านในพื้นที่ อ.โพธิ์ตาก ปลูกทุเรียนไว้หนึ่งต้นได้ผลดี จึงศึกษาหาข้อมูลและเมื่อปี 2559 ได้ลงมือปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทอง 140 ต้น และพันธุ์ก้านยาว 10 ต้น บนพื้นที่ 8 ไร่ สามารถเก็บผลผลิตได้เมื่อปีที่ผ่านมาประมาณ 100 ลูก
รสชาติทุเรียนที่ปลูกในพื้นที่อำเภอโพธิ์ตาก ปรากฏว่ามีรสชาติหวาน กรอบ กลิ่นไม่ฉุน มีลูกค้ามาขอซื้อถึงสวนขายหมดเกลี้ยง ทำให้ปีนี้ได้ใช้วิธีให้ทุเรียนออกผลก่อนทุเรียนภาคตะวันออกและภาคใต้ ด้วยการหยุดให้น้ำในช่วงเวลาที่เหมาะสม แล้วจึงปล่อยน้ำเข้าต้นทุเรียน ทำให้ทุเรียนเข้าใจว่ากำลังจะยืนต้นตายก็จะออกดอกออกมา ซึ่งขณะนี้มีดอกทุเรียนแทงช่อออกมาเป็นจำนวนมาก
จากนั้นจะเลือกดอกที่สมบูรณ์ไว้ให้กลายเป็นผลทุเรียนภายในระยะเวลา 120 วัน คาดว่าช่วงเดือน ก.พ. - มี.ค.63 จะสามารถเก็บผลทุเรียนขายได้ โดยเฉลี่ยจะมีผลทุเรียนต้นละ 20-60 ลูก น้ำหนักลูกละประมาณ 6 ก.ก. ราคาขายอยู่ที่ ก.ก.ละ 150 บาท โดยในเดือน ม.ค.63 จะเปิดให้จองทุเรียน ซึ่งตอนนี้มีลูกค้ามาติดต่อจองทุเรียนไว้ก่อนล่วงหน้าแล้วเป็นจำนวนมาก
สำหรับแผนงานในอนาคต จะรื้อแปลงยางพาราออกให้หมด แล้วปลูกผลไม้ เช่น ทุเรียน และเงาะโรงเรียน เพราะมั่นใจว่า พื้นที่ อ.โพธิ์ตาก เหมาะสำหรับปลูกผลไม้สองชนิดนี้ได้ มีน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยทอนอย่างเพียงพอตลอดทั้งปี ดินดี อากาศดี ก็จะทำให้ผลผลิตดีตามไปด้วย ซึ่งแต่ละวันจะทำการดูแลลำต้น ตรวจเช็คดอก กำจัดวัชพืช และให้น้ำในช่วงเวลาที่เหมาะสมและปริมาณเพียงพอต่อความต้องการด้วยระบบสปริงเกอร์
ด้านนายเวียน ธรรมสอน หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร สำนักงานเกษตรจังหวัดหนองคาย กล่าวว่าพื้นที่ อ.โพธิ์ตากมีเกษตรกรปลูกทุเรียน 320 ไร่ มีทั้งเพิ่งปลูกและปลูกไว้นานแล้ว โดยการปลูกทุเรียนช่วงแรกจะต้องใช้ผ้าตาข่ายคลุมไว้ไม่ให้ต้นทุเรียนโดนแดดโดยตรง จะทำให้ต้นตาย ต้องป้องกันไม่ให้รากทุเรียนเน่าเพราะจะทำให้ทุเรียนตายเร็ว และต้องระมัดระวังเพลี้ยไฟ หนอนเจาะต้น และเชื้อรา
ตามปกติแล้วทุเรียนจะให้ผลผลิตช่วงเดือนมิถุนายน เป็นต้นไป แต่ทุเรียนที่นี่สามารถให้ผลผลิตก่อนภาคใต้และภาคตะวันออก เป็นผลดีต่อเกษตรกรที่จะนำผลผลิตออกขายได้เร็ว ได้ราคาดี และจะมีการสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกทุเรียนในพื้นที่ที่เหมาะสมต่อไป