xs
xsm
sm
md
lg

แล้งแรง! ชาวนานครสวรรค์โอดต้องเสี่ยงทำหนีอดตาย บางรายปลูกแตงโม-ผักใช้น้ำน้อยแทน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นครสวรรค์ - ภัยแล้งนับวันยิ่งรุนแรง..ชาวนานครสวรรค์หลายรายโอดต้องยอมเสี่ยงทำนาหนีอดตาย ขณะที่บางรายหันปลูกแตงโม-พืชผักใช้น้ำน้อยแทน



ภัยแล้งนับวันยิ่งรุนแรง ขณะนี้นางยุพา สิทธิ ชาวนาในพื้นที่หมู่ 5 ตำบลวังมหากร อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ ต้องขุดร้องน้ำจากคลองสาธารณะเป็นทางยาว ในการนำน้ำเข้ามาในพื้นที่นาข้าวของตนเอง ก่อนจะสูบน้ำใส่ต้นข้าวที่เพิ่งหว่านใหม่ เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้น

นางยุพาเล่าว่า น้ำจากบึงบอระเพ็ดที่ส่งผ่านคลองสาธารณะลดระดับต่ำลงอย่างต่อเนื่อง เพราะชาวนาส่วนใหญ่ต่างกำลังเริ่มทำนาปรังฤดูกาลแรกพร้อมๆ กัน ประกอบกับปีนี้ฝนน้อยมากทำให้น้ำในบึงบอระเพ็ดมีปริมาณน้อยตามไปด้วย

“ก่อนหน้านี้ชาวนาส่วนใหญ่ที่อยู่รอบบึงบอระเพ็ดไม่สามารถทำนาได้เนื่องจากเป็นฤดูน้ำหลาก จึงไม่อยากเสี่ยงทำนาเพราะอาจถูกน้ำท่วมเสียหาย แต่กลับกลายเป็นว่ามาเจอภัยแล้งอีก ตอนนี้แม้จะรู้ดีว่าการทำนาครั้งนี้ อาจมีน้ำไม่พอจนอาจเกิดปัญหาข้าวยืนต้นตายได้ แต่ก็ต้องจำใจเสี่ยงทำ เนื่องจากที่ผ่านมาหลายเดือนชาวนาในพื้นที่ไม่มีรายได้เลย จึงต้องเสี่ยงทำนา หากไม่ทำคงต้องอดตายแน่”


อย่างไรก็ตาม ชาวนาหลายรายในจังหวัดนครสวรรค์ตัดสินใจหันมาปลูกพืชอื่นแทนทำนาข้าว หลังสถานการณ์น้ำในพื้นที่ส่อเค้าไม่พอใช้จากภาวะฝนทิ้งช่วงมาอย่างยาวนาน น้ำตามลำคลองสาธารณะต่างๆ ลดน้อยลงอย่างต่อเนื่องดังกล่าว

นางบุญเรือน จิ๋วสุข ชาวนาหมู่ที่ 9 ตำบลพนมเศษ อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ บอกว่าต้องเปลี่ยนนาข้าวทั้ง 20 ไร่ มาปลูกแตงโมแทนทั้งหมด เพราะกลัวว่าน้ำไม่พอทำนา เนื่องจากกการทำนาข้าวแต่ละครั้งต้องใช้น้ำจำนวนมาก ประกอบกับต้องใช้เวลาถึง 120 วันจึงจะเก็บเกี่ยวได้ แต่ถ้าปลูกแตงโมจะใช้เวลาเพียง 60 วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวส่งขายได้แล้ว

“ชาวนาในพื้นที่กำลังเริ่มทำนากันเป็นจำนวนมาก ทำให้น้ำในลำคลองสาธารณะที่เชื่อมต่อมาจากบึงบอระเพ็ดลดน้อยลง จึงไม่อยากเสี่ยงที่จะปลูกข้าวเพราะกลัวข้าวยืนต้นตายและขาดทุนในที่สุด จึงหันมาปลูกแตงโมแทนดีกว่า”


ล่าสุดมีเกษตรกรในหลายพื้นที่อาศัยจังหวะสภาพอากาศเย็นและเอื้ออำนวยเริ่มหันมาปลูกผักใบอายุสั้นส่งขายตามท้องตลาดแทน โดยนายสมควร เกิดศรี เกษตรกรหมู่ที่ 9 ตำบลบางม่วง อำเภอเมืองนครสวรรค์ บอกว่าตอนนี้เกษตรกรหลายพื้นที่ส่วนใหญ่ต้องปรับตัวกับสภาพอากาศทั้งภัยแล้ง-ภัยหนาว โดยเริ่มหันมาปลูกผักใบอายุสั้นแทนการปลูกพืชยืนต้นระยะยาว เนื่องจากผักชนิดต่างๆ จะสามารถเจริญเติบโตได้ดีในลักษณะอากาศที่หนาวเย็นและใช้น้ำน้อย เพราะช่วงฤดูหนาวแดดไม่ร้อนจัด ไม่ต้องรดน้ำบ่อยเหมือนปลูกในช่วงฤดูร้อน จะช่วยลดต้นทุนได้มาก รวมทั้งผักมีราคาค่อนข้างสูง ใช้เวลาปลูกเพียง 30-45 วันก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตขายได้ สร้างรายได้กว่า 1 พันบาทต่อวันเลยทีเดียว


กำลังโหลดความคิดเห็น