ศูนย์ข่าวศรีราชา - กรมทางหลวงชนบท เดินหน้าประชาสัมพันธ์โครงการเชื่อมโยงโครงข่ายโลจิสติกส์ ระบบขนส่งคมนาคม สนับสนุนนโยบายพัฒนาพื้นที่ EEC งบ 447 ล้าน และการจัดทำโครงการก่อสร้างถนนสายระยอง 2015 พร้อมถามความเห็นชอบชาวบ้านที่ต้องการความปลอดภัย สาธารณูปโภค และความเป็นธรรมในการเวนคืน
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักก่อสร้างทาง กรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคม ได้จัดประชุมชี้แจงเพื่อประชาสัมพันธ์ ทำความเข้าใจและรับฟังความคิดเห็นการมีส่วนร่วมภาคประชาชน ในโครงการก่อสร้างถนนสายระยอง 2015 แยกทางหลวงสาย 36 ถึงทางหลวงสาย 331 อ.ปลวกแดง จ.ระยอง เวลา 14.30 น.วันนี้ (2 ธ.ค.) ที่ห้องประชุม โรงเรียนบ้านภูไทร ต.เขาไม้แก้ว อ.บางละมุง จ.ชลบุรี โดยมี นายอิทธิชาติ คำอุไร ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงชนบทจังหวัดระยอง เป็นประธานเปิดการประชุม และมีเจ้าหน้าที่โครงการ บริษัทที่ปรึกษา และชาวบ้านผู้มีส่วนได้เสียเข้าร่วม
นายอิทธิชาติ คำอุไร ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงชนบทจังหวัดระยอง กล่าวว่าปัจจุบัน กรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคม ได้ว่าจ้างบริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นท์ จำกัด และบริษัท ศิริไพบูลย์ พัฒนาการ จำกัด เข้าดำเนินโครงการก่อสร้างถนน ค.ส.ล.สายระยอง 2015 แยกทางหลวงสาย 36 ถึงทางหลวงสาย 331 อ.ปลวกแดง จังหวัดระยอง ระยะทาง 11.465 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมต่อระบบโลจิสติกส์ระหว่างนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงการเดินทาง ขนส่ง การคมนาคม และการพัฒนาพื้นที่ตามแผน EEC ยกระดับอุตสาหกรรมในประเทศ
และโครงข่ายโลจิสติกส์ที่สมบูรณ์ในพื้นที่ 3 จังหวัด EEC ประกอบด้วย ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ทั้งนี้ เนื่องจากที่ผ่านมา ถนนสายดังกล่าวมีสภาพชำรุดทรุดโทรมอย่างมาก ทั้งๆ ที่เป็นสายทางสำคัญในระบบโครงข่ายการขนส่งระหว่างนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ และนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด ที่ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ซึ่งมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โครงการดังกล่าวจะมีการก่อสร้างปรับปรุงขยายพื้นผิวจราจรจากเดิมขนาด 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องทางจราจรแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก หนา 0.28 เมตร ผิวจราจรกว้าง 3.50 เมตรต่อ 1 ช่องจราจร พร้อมไหล่ทางข้างละ 1-2 เมตร รวมถึงการก่อสร้างสะพานลอยข้ามคลอง 2 แห่ง ปรับปรุงขยายสะพาน 1 แห่ง และการก่อสร้างสะพานลอยอีก 1 แห่ง บริเวณหน้าโรงเรียนบ้านภูไท ระยะความยาว 25 เมตร
รวมถึงการดำเนินก่อสร้างระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ระบบสาธารณูปโภค ระบบระบายน้ำ และระบบอำนวยความปลอดภัย ซึ่งมีระยะเวลาการดำเนินงานระหว่างวันที่ 19 สิงหาคม 2562-3 กุมภาพันธ์ 2565 รวม 900 วัน ในงบประมาณ 447 ล้านบาท
การจัดประชุมในครั้งนี้เพื่อนำเสนอความคืบหน้า วัตถุประสงค์ ความเป็นมา และการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนซึ่งถือเป็นการมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง เพื่อนำไปพัฒนาปรับปรุงแก้ไขให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งการทำ MOU ร่วมกันทั้ง 3 ฝ่าย ได้แก่ กรมทางหลวงชนบท ผู้รับจ้าง และภาคประชาชน เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพครอบคลุมทุกมิติ ซึ่งจะจัดขึ้น จำนวน 3 ครั้งระหว่างดำเนินโครงการ
หลังการประชุมชาวบ้านยังได้ซักถามความคืบหน้าโครงการ รายละเอียดเรื่องของการเวนคืน รวมถึงการจัดการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค ระบบความปลอดภัยทั้งก่อนและหลังโครงการแล้วเสร็จ