xs
xsm
sm
md
lg

พัทยาวาดฝันดัน 4 โปรเจกต์ยักษ์ยกระดับสู่ศูนย์กลางท่องเที่ยวใหม่ใน EEC

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าว​ศรี​ราชา​- เมืองพัทยา​ ทุ่ม​ 20​ ล้าน จ้างบริษัทที่ปรึกษา​สร้าง 4 โปรเจกต์ยักษ์​ยกระดับสู่การพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เปรยอาจมี​ ​ Marina Bay แห่งที่ 2 ของเอเชียหากปัจจัยเกื้อหนุน​ ขณะเดียวกัน ยังวางแผนพัฒนาระบบขนส่ง แหล่งท่องเที่ยว สาธารณูปโภคบริเวณท่าเรือบาลีฮาย ตามนโยบายศูนย์กลางท่องเที่ยวใหม่ใน EEC

จากกรณีที่เมืองพัทยา ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 ในโครงการศึกษาเพื่อพัฒนาพื้นที่แหลมบาลีฮายเมืองพัทยา ซึ่งเป็นโครงการสำคัญที่เมืองพัทยาใช้งบประมาณกว่า 20 ล้านบาท ในการว่าจ้างบริษัท​พิสุทธิ์ เทคโนโลยี จำกัด เพื่อทำการมาศึกษา วางแผนและออกแบบการพัฒนาระบบขนส่งในแหล่งท่องเที่ยว และสาธารณูปโภคเต็มรูปแบบ โดยจะใช้ระยะเวลาดำเนินงาน 1 ปี ระหว่างวันที่ 6 ก.ย.2562 ถึงวันที่​ 4 ก.ย.2563 เพื่อให้เกิดความสอดคล้องต่อนโยบาย NEO PATTAYA ของนายกเมืองพัทยา

และสร้างเมืองพัทยาให้กลายเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ภายใต้นิยาม “เมืองท่องเที่ยวแห่งนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” (The World Class Green Innovation Tourism City) โดยมีตัวแทนชุมชน องค์กรภาคธุรกิจท่องเที่ยว หน่วยงานภาครัฐ และประชาชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมากนั้น

วันนี้​ (27​ พ.ย.)​ผู้สื่อข่าว​ได้รับการเปิดเผยจาก นายสุธรรม เพ็ชรเกตุ รองปลัดเมืองพัทยา รักษาราชการแทนปลัดเมืองพัทยา ได้เผยเพิ่มเติมว่า โครงการดังกล่าวรัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นการดำเนินงานตามแผนพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC โดยมีเป้าหมายให้เมืองพัทยา​ เป็นศูนย์กลางทางการท่องเที่ยว โดยมีเมืองบริวารอีก 2 เมือง คือ ฉะเชิงเทราและระยอง เป็นปัจจัยหนุน
 
และยังได้มีการทุ่มงบประมาณมหาศาลในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน เช่น​ รถไฟฟ้าความเร็วสูง รถไฟรางคู่ ท่าอากาศยานนานาชาติแห่งใหม่ที่อู่ตะเภา และระบบสาธารณูปโภคต่างๆ อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งขณะนี้มีความคืบหน้าไปมาก

คาดว่าจะแล้วเสร็จในอีก 5-6 ปีข้างหน้า​ โดยเมืองพัทยา​ จะต้องเร่งวางแผนในการจัดระบบ Feed รองรับโครงการหลักที่รัฐบาลจัดสรรมา โดยเฉพาะระบบขนส่งในพื้นที่ที่จะมีความสะดวก​ ทันสมัย พร้อมการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ และระบบสาธารณูปโภคให้สามารถรองรับประชากรและนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก

เช่นเดียวกับ นายรณกิจ เอกะสิงห์ รองนายกเมืองพัทยา​ ที่เผยว่า​ปัจจุบันเมืองพัทยา​ ได้ว่าจ้างผู้ชำนาญการเข้ามาจัดทำระบบขนส่งมวลชนในพื้นที่อย่างเต็มรูปแบบ​ ภายใต้งบประมาณกว่า 70 ล้านบาท เพื่อเชื่อมกับโครงการรถไฟความเร็วสูงที่จะมีจุดจอดในพื้นที่เมืองพัทยา และมีกำหนดการส่งแผนงานในช่วงกลางปี 2563
 
ทั้งโครงการรถไฟฟ้ารางเบา หรือ TRAM Way ที่มีการศึกษาในหลายรูปแบบ​ และโครงสร้างทั้งระบบรางและล้อหมุน รวมทั้งการออกแบบและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องต่อการพัฒนาระบบขนส่งอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถใช้งานได้อย่างสมประโยชน์

ขณะที่การลงทุนจะเป็นการร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชน หรือเอกชนรับเหมาไปดำเนินการ และเมืองพัทยา​ จัดทำขึ้นเอง ซึ่งถือว่าครอบคลุมและมีหลายตัวเลือกที่สมประโยชน์

และในส่วนของสำนักนโยบายแผนการขนส่งและการจราจร​ หรือ สนข. ก็ได้เข้ามาดูรูปแบบและศึกษาความเหมาะสม รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนไปแล้วเช่นกัน

"ในเรื่องของการจัดทำ TOD ในพื้นที่บริเวณโดยรอบสถานีจุดจอดรถไฟฟ้าความเร็วสูง จะให้ความสำคัญในเรื่องของการเวนคืนที่ดิน ซึ่งจะใช้รูปแบบการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามาถือหุ้นร่วมและพัฒนาพื้นที่โดยรอบให้มีศักยภาพของความเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก โดยจะมีทั้งห้างสรรพสินค้า โรงแรม ศูนย์อาหาร หรือศูนย์ประชุม และสวนสาธารณะ" นายรณกิจ​ กล่าว​

ด้าน​ นายทรงกริช สรรพกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท​ พิสุทธิ์ เทคโนโลยี จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ​ มีความมุ่งหวังที่จะพัฒนาพื้นที่แหลมบาลีฮาย ให้มีสภาพทางกายภาพและภูมิทัศน์ที่ส่งเสริมและเป็นหน้าเป็นตาให้แก่เมืองพัทยา รวมทั้งพัฒนาพื้นที่ไปสู่การเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ยั่งยืน
 
โดยมีแนวคิดที่จะเปิดโอกาสให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของโครงการ ​ เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลกคล้ายกับแหล่งท่องเที่ยวริมน้ำของหลายประเทศ อย่าง Marina Bay ในสิงคโปร์ River West ของอเมริกา หรือ The Soul Fooating island ในเกาหลีใต้

"แผนการนี้จะสอดคล้องกับแผนของกรมเจ้าท่า​ ในการจัดทำท่าเรือสำราญ หรือ Cruise Terminal ในงบประมาณกว่า 73 ล้านบาท บริเวณปลายแหลมบาลีฮาย เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวสู่เมืองพัทยาให้เพิ่มมากขึ้น โดยปรับเปลี่ยนจากการใช้ท่าเรือที่แหลมฉบัง​ มายังเมืองพัทยาแทน ขณะที่ท่าเรือ Cruise อีกแห่งบริเวณพื้นที่จุกเสม็ด อ.สัตหีบ ก็กำลังดำเนินการแล้วเช่นกัน ซึ่งจะเป็นกระจายนักท่องเที่ยวสู่พื้นที่ข้างเคียงในภาคตะวันออก ทั้ง ระยอง จันทบุรี และตราด"

ทั้งนี้ ตามแผนงานหลักที่ได้รับมอบหมายจากเมืองพัทยา​ คือการสำรวจ ศึกษาและออกแบบโครงการให้มีความเหมาะสมทั้งด้านกายภาพ เศรษฐศาสตร์ สังคม สิ่งแวดล้อม กฎหมาย และอื่นๆ รวมทั้งการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และความเป็นไปได้ของโครงการในรูปแบบการร่วมลงทุนกับเอกชน​ หรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน

โดยมีแผนการดำเนินงานใน 4 โปรเจกต์สำคัญ​ คือ 1.การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งบริเวณหน้าท่าเรือบาลีฮาย 2.การพัฒนาเพิ่มพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวบริเวณ Walking Street ซึ่งอาจจะมีการขยายพื้นที่ลงไปในฝั่งทะเล เพื่อเพิ่มความสะดวกในการสัญจรและแหล่งท่องเที่ยว หรือ Land Mark ใหม่ๆ​ ซึ่งกรณีนี้อาจต้องมีเรื่องติดขัดอยู่บ้างกับผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ สผ.ดูแล หรือมติ ครม.เดิมที่สั่งการให้มีการรื้อถอนอาคาร 101 รายเดิมออกจากพื้นที่

3.การจัดสร้างอาคารลอยน้ำในทะเล บริเวณหน้าอ่าวพัทยาข้างสะพานท่าเทียบเรือพัทยาใต้ เพื่อใช้เป็นพื้นที่สันทนาการในการจัดกิจกรรมด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยว และ 4.โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือ Cruise Terminal ที่ต้องมีการจัดทำระบบขนส่งมวลชนรองรับอย่างเต็มรูปแบบ

กรรมการผู้จัดการ บริษัท พิสุทธิ์ เทคโนโลยี จำกัด​ ยังกล่าวอีกว่าทั้งหมดนี้จะเป็นการพัฒนาที่มีการศึกษาไว้อย่างครอบคลุม โดยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นรวม 4 ครั้ง ก่อนจะรวบรวมเสนอต่อเมืองพัทยาตามเวลาที่กำหนด จากนั้น​ เมืองพัทยา​ จะรับไปดำเนินการต่อเพื่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อการพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนต่อไป














กำลังโหลดความคิดเห็น