มหาสารคาม - “พล.ต.อ.วิระชัย” รอง ผบ.ตร. รุดลงพื้นที่มหาสารคามติดตามคดีแก๊งล่อซื้อสินค้าลิขสิทธิ์โดราเอมอนกรรโชกทรัพย์ จี้ ตร.เร่งล่าตัวมาดำเนินคดีหลังออกหมายจับแล้ว 2 ราย ฟัน 4 ข้อหาหนัก เผยคดีล่อซื้อลิขสิทธิ์ตบทรัพย์ฉาวที่โคราชศาลยกคำร้อง เหตุพยานหลักฐานไม่เพียงพอ
วันนี้ (21 พ.ย.) เมื่อเวลา 16.00 น. ที่กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดมหาสารคาม พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ลงพื้นที่ติดตามคดีล่อซื้อสินค้าลิขสิทธิ์โดราเอมอน โดยมี พล.ต.ต.ดิเรก จิตอร่าม ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด (ผบก.ภ.จว.) มหาสารคาม ให้การต้อนรับ
จากนั้น พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รอง ผบ.ตร. ได้พูดคุยกับผู้เสียหาย คือ นางโสภาพรรณ ปัญยาง และนางสาวชญานิส นามไพร ผู้เสียหายคดีล่อซื้อสินค้าลิขสิทธิ์โดราเอมอน โดยผู้เสียหายเข้าแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อ นายภูมิภากร ถินสุวรรณ์ และนายพิพล โตตันติกุล ข้อหาร่วมกันกรรโชกทรัพย์ ซึ่งผู้เสียหายถูกล่อให้ผลิตกล่องไม้ติดตัวการ์ตูนรูปโดราเอมอน ซึ่งผู้เสียหายไม่เคยผลิตมาก่อน แต่ถูกล่อให้ผลิต ก่อนที่จะนัดส่งสินค้ากันที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในเขตเทศบาลเมืองมหาสารคาม ซึ่งภายหลังจากส่งสินค้าและจ่ายเงินเสร็จจึงแสดงตัวจับกุมอ้างว่ามาจากบริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์ และนำตัวมาที่ชั้น 2 ของ สภ.เมืองมหาสารคาม ก่อนเรียกเงิน 200,000 บาท แต่ตกลงจ่ายเงินกันที่ 50,000 บาท เหตุเกิดเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2562
ต่อมาวันที่ 12 พ.ย. 62 ผู้เสียหายได้เดินทางเข้าแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อ พ.ต.ท.วุฒิ ศรีวิลัย รองผู้กำกับการสอบสวน สภ.เมืองมหาสารคาม ให้ดำเนินคดีข้อหากรรโชกทรัพย์ต่อนายภูมิภากร ถินสุวรรณ์ และนายพิพล โตตันติกุล ข้อหาร่วมกันกรรโชกทรัพย์ ด้วยเห็นจากสื่อสารมวลชนว่าตนเองเป็นผู้ถูกกระทำ และเกรงว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรมจึงมาแจ้งความดังกล่าว
พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รอง ผบ.ตร. กล่าวว่า คดีนี้มีผู้เสียหาย 3 คน ประกอบด้วย นางโสภาพรรณ ปัญยาง นายชยานันท์ ปัญยาง และนางสาวชญานิส นามไพร ซึ่งหนึ่งในผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับมีการแอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย ซึ่งในการลงพื้นที่ในวันนี้ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่เร่งติดตามตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดี ขณะนี้ได้ออกหมายจับ 2 ราย คือ นายภูมิภากร ถินสุวรรณ์ อยู่บ้านเลขที่ 140 หมู่ 2 ต.ทับสวาย อ.ห้วยแถลง จ.นครราชสีมา และ นายพิพล โตตันติกุล อยู่บ้านเลขที่ 52/65 แขวงทุ่งครุ เขตทุ่งครุ จ.กรุงเทพฯ ซึ่งคดีนี้มีอายุความ 10 ปี
คดีนี้เกิดจากการปกป้องสิทธิของตนเองที่ผู้เสียหายเมื่อทราบว่าถูกล่อให้กระทำผิดจึงได้เดินทางเข้าแจ้งความ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ออกหมายจับผู้ต้องหาทั้ง 2 รายตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายนที่ผ่านมา สำหรับมูลค่าสินค้าที่ถูกล่อให้ผลิตไม่ได้มาก ราคาไม่กี่ร้อยบาท โดยล่อให้ผู้เสียหายติดภาพตัวการ์ตูนโดราเอมอน ที่กล่องไม้แล้วจับกุมตัวทั้งๆ ที่ตัวเองไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ และมีการเรียกร้องค่าเสียหาย 200,000 บาท แต่ตกลงกันได้ที่ 50,000 บาท
พฤติการณ์ดังกล่าวผู้ที่ไม่ได้เป็นตำรวจ แต่มีการแอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ถือว่าเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ในข้อหาที่ 1, ข้อหาที่ 2 ตัวเองเป็นประชาชนไม่มีอำนาจจับกุม และไปจับกุม ถือว่าเป็นการจับกุมโดยไม่ชอบ ไม่มีอำนาจจึงมีความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขัง ทำให้เสื่อมเสียอิสรภาพและเสรีภาพ
ข้อหาที่ 3 เรียกร้องทรัพย์สินเงินทอง ทั้งๆ ที่ผู้ที่ถูกเรียกทรัพย์สินเงินทองไม่ได้เป็นผู้ที่กระทำผิดละเมิดลิขสิทธิ์แต่ประการใด และพูดจาข่มขู่ว่าหากไม่จ่ายเงินจะติดคุก รับราชการไม่ได้ ทำให้ผู้เสียหายเกรงกลัว ต้องจ่ายเงินให้เป็นเงิน 50,000 บาท พฤติการณ์ดังกล่าวจึงถือเป็นการกรรโชกทรัพย์ มีอัตราโทษจำคุกสูงถึง 5 ปี และ ข้อหาที่ 4 คือ แจ้งความเท็จ โดยการอ้างว่าตัวเองเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ
ส่วนกรณีที่ จ.นครราชสีมา ศาลได้ยกคำร้องไปเนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ ซึ่งทางพนักงานสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อให้เพียงพอต่อการพิจารณา ส่วนที่ จ.มหาสารคามเป็นเรื่องที่ชัดเจนว่าผู้เสียหายไม่ได้มีการผลิตสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์มาก่อน ไม่เคยโพสต์ ไม่ได้ทำ ไม่ได้ขาย แต่กลุ่มผู้ต้องหามาลวงให้ผลิต ให้ทำ ให้ขาย แล้วไปจับกุมตัว ซึ่งชัดเจนว่าถูกล่อให้กระทำผิด จึงต้องลงพื้นที่มาติดตามคดีด้วยตนเอง