xs
xsm
sm
md
lg

ทุ่มงบแก้ภัยแล้ง 200 ล้านนครพนมส่อทุจริต ชาวบ้านชี้เก็บน้ำไม่ได้ร้อง สตง.ตรวจสอบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ชาวบ้าน อ.เรณูนครลงพื้นที่นำสื่อมวลชนตรวจสอบโครงการพัฒนาแหล่งน้ำแก้ภัยแล้ง ไม่คุ้มกับงบประมาณ
นครพนม - โครงการพัฒนาแหล่งน้ำแก้ภัยแล้งจ.นครพนมส่อทุจริต หลังชาว อ.เรณูนครร้องสื่อตรวจสอบ พบไม่ขุดลอกให้ลึกแต่กลับทำคันคูให้สูงขึ้น ชี้เก็บน้ำแก้ภัยแล้งไม่ได้ ด้านนายอำเภอเรณูนครยันโปร่งใส ไม่เอื้อกลุ่มทุน ย้ำโครงการยังทำไม่เสร็จ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากมีชาวบ้านจากทั้ง 12 อำเภอของ จ.นครพนมร้องเรียนผ่านสื่อให้ตรวจสอบโครงการพัฒนาแหล่งน้ำแก้ภัยแล้ง หลังรัฐบาลอนุมัติงบประมาณเฉพาะกิจแก้ภัยแล้ง ประจำปี 2562 จังหวัดละ 200 ล้านบาท โดยจังหวัดนครพนมเป็นหนึ่งในจังหวัดได้รับงบประมาณ 200 ล้านบาทนำไปพัฒนาแหลงน้ำ โดยเฉลี่ยอนุมัติงบประมาณลงอำเภอละประมาณ 10-15 ล้านบาท ตามสภาพความเดือดร้อน ขุดลอกแหล่งน้ำที่ตื้นเขิน ขุดเจาะบ่อบาดาล

กระทั่งเกิดปัญหาชาวบ้านตรวจสอบพบว่าดำเนินการไม่คุ้มค่างบประมาณ ขุดลอกขาดมาตรฐาน บางจุดหมกเม็ด ปริมาณงานไม่คุ้มค่ากับงบประมาณ ที่สำคัญ โครงการส่วนใหญ่จะใช้ช่องว่างระเบียบจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษตกลงราคาหาผู้รับจ้าง ให้ค่าจ้างโครงการละไม่เกิน 5 แสนบาท ไม่ใช้วิธีประกวดราคาพิจารณาคัดเลือกผู้รับจ้าง ทำให้เอื้อประโยชน์ต่อนักการเมือง และนายทุนบางกลุ่มเข้ามาแสวงประโยชน์รับงาน

ชาวบ้าน อ.เรณูนครร้องสื่อตรวจสอบ 2 โครงการแก้แล้ง

ล่าสุดที่ อ.เรณูนคร จ.นครพนม ตัวแทนชาวบ้าน นำโดย นางเถาวัลย์ ทักโลวา อายุ 59 ปี ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 3 บ้านนาดี ต.หนองย่างชิ้น อ.เรณูนคร จ.นครพนม พร้อมด้วยนายณรงค์ พลชา อายุ 61 ปี ชาวบ้านนาคอย หมู่ 5 ต.หนองย่างชิ้น ได้ประสานมายังศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ชมรมสหายข่าวอาสา จ.นครพนม ร้องสื่อมวลชนลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการขุดลอกพัฒนาแหล่งน้ำแก้ภัยแล้งของ อ.เรณูนคร ประกอบด้วยโครงการขุดลอกหนองผักไหม บ้านหัวขัวใต้ หมู่ 1 ต.หนองย่างชิ้น อ.เรณูนคร งบประมาณ 495,000 บาท ขนาดกว้าง 77 เมตร ยาว 120 เมตร ปริมาณดินไม่น้อยกว่า 10,919 ลบ.ม. ตรวจสอบเบื้องต้นผู้รับเหมาไม่ได้ขุดลอกความลึกเพิ่มจากเดิม แต่ใช้วิธีทำคันคูให้สูงขึ้น ให้ได้ขนาดความลึกตามแบบ ทำให้ไม่สามารถเก็บกักน้ำได้ในระยะยาว

ทั้งยังมีโครงการขุดลอกหนองท่ม บ้านนาลอย หมู่ 5 ต.หนองย่างชิ้น อ.เรณูนคร จ.นครพนม กว้าง 30 เมตร ยาว 14 เมตร ลึกเฉลี่ย 1.50 เมตร มีปริมาณดินขุดไม่น้อยกว่า 4,498.20 ลบ.ม. งบประมาณ 204,200 บาท แต่ชาวบ้านตรวจสอบพบว่ามีเพียงยกคันคูขึ้นรอบหนองน้ำเดิม และไม่ได้ขุดให้ลึกจากเดิม


ด้านนายณรงค์ พลชา อายุ 61 ปี ชาวบ้านนาคอย หมู่ 5 ต.หนองย่างชิ้น เปิดเผยว่า โครงการขุดลอกพัฒนาหนองน้ำของอำเภอเรณูนครขุดลอกง่ายเกินไป เมื่อเทียบกับงบประมาณที่นำป้ายปักไว้หลายแสนบาท ตรวจสอบแล้วไม่คุ้มค่ากับเงินภาษี บางจุดแทบไม่ทำอะไรเลย หากทำเพียงเท่านี้ ระยะยาวไม่เกิดประโยชน์ต่อชาวบ้าน ไม่สามารถเก็บน้ำแก้ภัยแล้งได้แน่นอน อยากให้ทางจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบให้ได้มาตรฐาน คุ้มค่ากับงบประมาณ ที่สำคัญประชาชนต้องใช้ประโยชน์ได้จริง

ขณะที่นายปรียา ผาลุธรรม อายุ 52 ปี ประธานศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ชมรมสหายข่าวอาสา ในฐานะตัวแทนสื่อมวลชน จ.นครพนม เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับตัวแทนชาวบ้าน อ.เรณูนคร ลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการก่อสร้างพัฒนาแหล่งน้ำ จากการตรวจสอบแค่ 2 จุดพบว่ามีปัญหาจริง หากเทียบกับงบตามป้ายที่ระบุในสัญญาจ้าง จุดแรกประมาณเกือบ 5 แสนบาท จุดที่สองประมาณ 2 แสนกว่าบาท

“หากโครงการดังกล่าวทำงานเสร็จสมบูรณ์แล้วนั้นขอยืนยันมีปัญหาแน่นอน เพราะเนื้องานไม่สมกับราคา บางจุดแทบจะไม่ได้ขุดลอก ปัญหาดังกล่าวมีข้อมูลว่าเกิดปัญหาทั้ง 12 อำเภอใน จ.นครพนม ถือเป็นตัวเงินงบประมาณไม่น้อยที่รัฐบาลอนุมัติมาช่วยชาวบ้านร่วม 200 ล้านบาท จะรวบรวมหลักฐานความเดือดร้อนนำไปเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง”นายปรียากล่าว และว่า

ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม, สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ไปจนถึงรัฐบาล ให้ตรวจสอบการดำเนินงานจะต้องได้มาตรฐานมากที่สุด ถ้าปล่อยไว้จะถูกผลาญงบสูญเปล่า แต่หากโครงการที่พบยังไม่แล้วเสร็จถือเป็นเรื่องดี ต้องขุดลอกเพิ่ม และสำคัญที่ต้องตรวจสอบเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างโครงการนี้ใช้วิธีตกลงราคา หาผู้รับจ้างด้วยวิธีพิเศษไม่ประกวดราคา ส่วนใหญ่พบว่าผู้รับจ้างจะเป็นรายเดียวกันทั้งหมด

นายอำเภอเรณูนครยันทำถูกต้อง ไม่เอื้อประโยชน์กลุ่มทุน

ด้านนายนิทัศน์ เทศน์สวัสดิ์ นายอำเภอเรณูนคร จ.นครพนม เปิดเผยว่า กรณีมีชาวบ้านร้องเรียน ขอนำเรียนว่า อ.เรณูนครได้รับงบประมาณแก้ภัยแล้ง 9 ล้านบาท รวมประมาณ 15 โครงการ กระจายไปตามชุมชนหมู่บ้าน ตำบลต่างๆ ที่เดือดร้อนเรื่องแหล่งน้ำ ซึ่งการหาผู้รับจ้างจะใช้วิธีตกลงราคา ตามระเบียบจัดซื้อจัดจ้างกรณีพิเศษราคาไม่เกิน 5 แสนบาท




ยืนยันว่าดำเนินการด้วยความเหมาะสม ไม่มีการเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนรายใดรายหนึ่ง ส่วนการที่ชาวบ้าน ให้ข้อมูลว่าไม่คุ้มค่างบประมาณ ทางอำเภอตรวจสอบแล้วว่าผู้รับจ้างยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ จะเข้าไปดำเนินการอีกรอบ เนื่องจากสัญญาจ้างสิ้นสุดเดือนมกราคม 2563 ซึ่งได้ประสานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตรวจสอบกำกับให้ผู้รับจ้างดำเนินการตามแบบมาตรฐานทุกจุด ขอให้มั่นใจว่าโปร่งใส ตรวจสอบได้


กำลังโหลดความคิดเห็น