ราชบุรี - รองผู้ว่าฯ ราชบุรี เรียกประชุมด่วนหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อรับมือสถานการณ์น้ำล้นตลิ่ง หลังเขื่อนเร่งปล่อยน้ำ ส่งผลให้พื้นที่สองฝั่งแม่น้ำแม่กลองเริ่มมีน้ำปริมาณสูงขึ้น
วันนี้ (6 ส.ค.) ที่ห้องประชุมโครงการชลประทานราชบุรี อ.เมือง จ.ราชบุรี นายวีรัส ประเศรษโฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี พร้อมทั้งหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องร่วมหาแนวทางการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและรับมือต่ออุทกภัยในเขต จ.ราชบุรี ซึ่งที่ประชุมได้มีการรายงานสถานการณ์น้ำในวันนี้ที่เขื่อนวชิราลงกรณ ได้พร่องน้ำลงมาที่เขื่อนแม่กลอง จำนวน 39.25 ล้าน ลบ.ม. ส่วนเขื่อนศรีนครินทร์ ปล่อยน้ำลงมาประมาณ 18.86 ล้าน ลบ.ม. ลงมาที่เขื่อนท่าทุ่งนา จึงมีปริมาณน้ำระบายอยู่ที่ประมาณ 20.07 ล้าน ลบ.ม. ทำให้วันนี้ในพื้นที่ จ.ราชบุรี ตั้งแต่เขต อ.บ้านโป่ง อ.โพธาราม และ อ.เมือง เริ่มมีน้ำเพิ่มขึ้น บางจุดน้ำได้ไหลเอ่อเข้าท่วมลานอเนกประสงค์ แต่ประชาชนยังใช้ชีวิตได้ตามปกติหากไม่มีฝนตกลงมา
พร้อมกันนี้ นายวีรัส ประเศรษโฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ได้เดินทางไปตรวจสอบพื้นที่บริเวณริมเขื่อนโพธาราม ซึ่งกำลังมีระดับน้ำล้นตลิ่ง พร้อมกล่าวว่า น้ำแม่กลองจะขึ้นอยู่กับเขื่อนหลักที่อยู่ใน จ.กาญจนบุรี ที่จะปล่อยลงมาเพื่อรักษาปริมาณน้ำของเขื่อน และได้พร่องน้ำเพื่อจะรองรับน้ำจากฝนที่จะตกลงมาอีก จากการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาในช่วงสัปดาห์นี้ เมื่อ 2 เขื่อนหลักปล่อยลงมายังเขื่อนแม่กลอง และลงมาในพื้นที่ราชบุรี
ซึ่งจะมีชลประทานราชบุรี เป็นผู้ควบคุมดูแล แต่ถ้าหากฝนตกซ้ำลงมาบางจุดต้องเฝ้าติดตาม เช่น ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง ได้แก่ พื้นที่เมืองโพธาราม แต่ก็ยังไม่ค่อยมีปัญหา หรืออันตราย โดยระดับน้ำที่น่าเป็นห่วงนั้นจะต้องสูงขึ้นอีกประมาณ 50 ซม. ต่อจากนี้ไปถึงจะน่าเป็นห่วง ถ้าระบายน้ำลงไปไม่ทันตามคลองสาขาต่างๆ บางส่วนอาจเกิดน้ำทะเลหนุนขึ้นมา อาจเกิดผลกระทบในสถานที่สำคัญได้ เช่น แหล่งโบราณสถานต่างๆ วัดเก่าที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง
ทั้งนี้ ได้มีการเตรียมพร้อมรับมือไว้แล้ว ทั้งมีการวางแผนการอุดช่องระบายน้ำ แยกน้ำออกจากคลองส่งน้ำ หรือไปยังทุ่งรับน้ำ ซึ่งจะมีคลองซอยแยกเข้าไปแถว อ.ดำเนินสะดวก แยกไปตามคลองซอยสวนของชาวบ้าน เพื่อให้น้ำไหลสะดวกเร็วขึ้น ขณะนี้ได้พยายามขอข้อมูลจากกรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา มาประกอบกัน รวมทั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่จะแจ้งมาที่ จ.กาญจนบุรี และทางกาญจนบุรี ส่งข้อมูลมาที่ราชบุรี ซึ่งพยายามแจ้งเตือนประชาชนให้ได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเพื่อป้องกันข่าวลือที่อาจเกิดขึ้นได้
ส่วนหน่วยงานด้านทางหลวง และทางหลวงชนบท ก็จะไปดำเนินการทำร่องน้ำเพื่อเร่งระบายได้ในพื้นที่เสี่ยง เนื่องจากทางสถานีอุตุนิยมวิทยาราชบุรีแจ้งว่า เพิ่งย่างเข้าต้นฤดูฝนยังคงเหลือเวลาอีกประมาณ 2 เดือน ที่จะต้องคอยดูแลสถานการณ์น้ำในพื้นที่ ซึ่งการแก้ไขปัญหาขณะนี้ได้พยายามดำเนินการหน่วงน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กๆ ก่อน เพื่อไม่ให้ไปซ้ำเติมยังพื้นที่ใกล้เคียงให้มากที่สุด