กาญจนบุรี - นักธรณีวิทยา ม.มหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ฝากขอบคุณ ดร.สมิทธ อดีตประธานศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ที่ห่วง 2 เขื่อนยักษ์เมืองกาญจน์ ยันรอยเลื่อนสะกาย ที่อ้างถึงห่างจากฝั่งตะวันตกกว่า 300 กิโลเมตร
จากกรณี เมื่อวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา ดร.สมิทธ ธรรมสโรช อดีตประธานศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นในการเตือนกรมชลประทาน ให้เร่งระบายน้ำจากเขื่อนที่มีปริมาณน้ำเกินระดับกักเก็บ 80% โดยเฉพาะความเป็นห่วงที่มีต่อ เขื่อนวชิราลงกรณ อ.ทองผาภูมิ และเขื่อนศรีนครินทร์ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี เพราะทั้ง 2 เขื่อนตั้งอยู่ใกล้รอยเลื่อนสะกาย
ดร.สมิทธ ยังได้กล่าวอีกว่า ผมไม่อยากเตือนเรื่องไม่ดี แต่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ต้องเตรียมให้พร้อม หากมีแผ่นดินไหวในพม่าตอนใต้ จะกระทบผนังเขื่อน ต้องระวังให้มาก น้ำในเขื่อนเวลากระฉอกช่วงเกิดแผ่นดินไหว เหมือนขยับอ่างน้ำขึ้นลง มีคลื่นมากระทบขอบอ่าง ตัวคลื่นกระทบสันเขื่อน ทำให้เขื่อนแตกร้าวได้ จากที่ผนังเขื่อนเคยได้รับผลกระทบมาแล้วในอดีตมีแผ่นดินไหวที่กรุงย่างกุ้ง
โดยนักธรณีวิทยาเคยพยากรณ์ว่า หากมีแผ่นดินไหวตอนใต้พม่าอีก จะกระทบ 2 เขื่อน ทำให้น้ำท่วมมาถึงกรุงเทพฯ และนอกจากนี้ ดร.สมิทธ ยังเปรียบเทียบถึงปริมาณฝนที่ตกอย่างหนักที่ประเทศลาว เป็นเหตุทำให้เขื่อนแตกด้วย
ล่าสุด เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ (2 ส.ค.) ดร.ปริญญา พุทธาภิบาล นักธรณีวิทยา สาขาธรณีศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณข้อห่วงใยของ ท่านสมิทธ ที่ได้ออกมาเตือนด้วยความเป็นห่วง
ดร.ปริญญา ได้ชี้แจงพร้อมกับให้ข้อมูลต่อสื่อมวลชน 4 ข้อ ดังนี้ 1.รอยเลื่อนสะกายในพม่า ที่ ดร.สมิทธ อ้างถึงนั้น จริงๆ แล้วอยู่ห่างจากชายแดนไทยฝั่งตะวันตกมากกว่า 300 กิโลเมตร และห่างจากสันเขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ มากกว่านั้น 70 กิโลเมตรโดยประมาณ และห่างจากกรุงเทพฯ ร่วม 500 กิโลเมตร
2.เราโชคดีที่ระนาบรอยเลื่อนสะกาย (Sagiang Fault Plane) เอียงเทไปทางตะวันตก ซึ่งเป็นฝั่งที่จะมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ๆ เท่านั้น สถิติแผ่นดินไหวใหญ่ในอดีตก็เป็นเช่นนั้น
3. อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องช่วยกันเฝ้าระวัง โดยเฉพาะการพร่องน้ำให้เหมาะสม และระมัดระวังตามมาตรการที่มีมาตรฐานสูงอยู่แล้ว
และ 4.การรู้ทันข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญ การตื่นตระหนกเกินเหตุไม่เป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม