xs
xsm
sm
md
lg

มข.รุกงานเพื่อสังคมสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ประเดิมถ่ายทอดองค์ความรู้ให้พม่า-ลาว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวขอนแก่น - มข.นำบุคลากร และนักศึกษาออกถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม CLMV เพื่อช่วยเหลือสังคมในต่างประเทศ นำร่องปีแรก 2 ประเทศ ทั้งที่พม่า และ สปป.ลาว

เมื่อเวลา 09.30 น. วันนี้ (31 ก.ค.) ที่ห้องประชุมสิริคุณากร 4 มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) นายปราโมทย์ วิทยาสุข กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นประธานเปิดงาน ถ่ายทอดองค์ความรู้มหาวิทยาลัยขอนแก่นสู่ประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม CLMV เพื่อช่วยเหลือสังคมในต่างประเทศ โดยมีนักศึกษา บุคลากรคณะเศรษฐศาสตร์ มข.พร้อมทั้งสื่อมวลชนเข้าร่วมงาน

นายปราโมทย์ วิทยาสุข กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีพันธกิจในเรื่องการอุทิศเพื่อสังคม และมีองค์ความรู้ทั้งด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ การรักษาโรคเฉพาะทาง และเทคโนโลยีทั้งด้านการเกษตร การออกแบบผลิตภัณฑ์ ห้องสมุดดิจิทัล เทคโนโลยีทางคอมพิวเตอร์ และอื่นๆ ที่ได้รับการยอมรับทั้งในระดับชาติ และนานาชาติ และมีบุคลากรที่มีความพร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่ประเทศในกลุ่ม CLMV (ประเทศลาว กัมพูชา เวียดนาม และพม่า) เพื่อเป็นการช่วยเหลือสังคมในต่างประเทศ

โดยปี 2561 ถือเป็นปีแรกที่เริ่มต้นดำเนินโครงการดังกล่าว ทางมหาวิทยาลัยฯได้ส่งทีมบุคลากร และนักศึกษาไปที่ประเทศพม่า และ สปป.ลาว ประกอบด้วยอาจารย์ที่ปรึกษา 6 คน นักศึกษา 32 คน มีภารกิจหลักคือ การถ่ายทอดเทคโนโลยี ณ ประเทศพม่า ระหว่างวันที่ 17-23 มิถุนายน 2561 จำนวน 3 ทีม ได้แก่ 1.Digital library คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และสำนักหอสมุด ไปถ่ายทอดที่ Tharapar Library และ Sitagu International Buddhist Academy 2.Sport therapy คณะเทคนิคการแพทย์ ไปถ่ายทอดองค์ความรู้ที่มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง 3.คณะวิศวกรรมศาสตร์ ไปถ่ายทอดองค์ความรู้ที่บริษัทด้านไอที

ส่วนในระหว่างวันที่ 20-26 มิถุนายน 2561 ได้จัดส่งอาจารย์ และนักศึกษา จำนวน 3 ทีม ออกไปให้ถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ สปป.ลาว ได้แก่ 1.สาขาการออกแบบ คณะศิลปกรรมศาสตร์ และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ไปถ่ายทอดที่หมู่บ้านบ้านจาน หลวงพระบาง 2.Mobile Applications Development คณะวิศวกรรมศาสตร์ ไปถ่ายทอดที่มหาวิทยาลัยสุภานุวงศ์ หลวงพระบาง

จากการประเมินผลผลการดำเนินโครงการเบื้องต้น ซึ่งเป็นปีนำร่องปีแรก พบว่าโครงการฯ ได้สร้างประโยชน์ทางวิชาการให้แก่หน่วยงานการศึกษา และการพัฒนาอาชีพของชุมชน และธุรกิจในทั้ง 2 ประเทศเป็นอย่างมาก และยังช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การดำเนินโครงการหลังจากนี้ ทางสถาบันคงต้องดูความต้องการของประเทศเพื่อนบ้านที่เราจะเข้าไปช่วยเหลือถ่ายทอดองค์ความรู้ว่าเขาต้องการให้ช่วยเหลือด้านใด ต้องมีการจัดลำดับความสำคัญ นายปราโมทย์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น