บีโอไอขอนแก่นจัดคณะเอสเอ็มอีไทย กลุ่มเกษตรแปรรูปอาหารสัตว์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก บุกเส้นทางลงทุนหลวงพระบาง สปป.ลาว เล็งใช้เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจหลวงพระบาง-อินโดจีน-เมาะลำไยเชื่อมจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง มุ่งกระจายสินค้า การลงทุน 3 ประเทศ ทั้งไทย-ลาว-พม่า
นายอิสระ อมรกิจบำรุง ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 3 (บีโอไอขอนแก่น) เปิดเผยว่า บีโอไอขอนแก่นร่วมกับสำนักพัฒนาปัจจัยสนับสนุนการลงทุนจัดกิจกรรม “เพิ่มศักยภาพและสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการไทยเส้นทางกรุงเทพฯ-หลวงพระบาง” ระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม ถึง 2 สิงหาคม 2561 นี้ โดยนำคณะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ของไทยในกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป และอาหารสัตว์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก และเครื่องสำอางของภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมกว่า 30 บริษัท เดินทางไปสร้างเครือข่ายการค้าการลงทุนร่วมกับผู้ประกอบการในแขวงหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)
กิจกรรมสำคัญ เอสเอ็มอีไทยจะได้พบกับหอการค้าแขวงหลวงพระบางเพื่อหารือเกี่ยวกับการค้าการลงทุนโดยเฉพาะโอกาสการลงทุนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งเป็นสาขาที่เอสเอ็มอีไทยมีศักยภาพ รวมทั้งจะได้ติดตามความคืบหน้าโครงการระเบียงเศรษฐกิจหลวงพระบาง-อินโดจีน-เมาะลำไย (Luangprabang-Indochina-Mawlamyine Economic Corridor : LIMEC) ซึ่งเป็นความร่วมมือของไทย-ลาว-พม่า จากแขวงหลวงพระบางและแขวงไชยะบุรี สู่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 ของไทย ได้แก่ พิษณุโลก อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ สุโขทัย ต่อไปยังรัฐกะเหรี่ยงและรัฐมอญ ของประเทศพม่า เพื่อเชื่อมโยงเส้นทางขนส่งสินค้าและการลงทุนและสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้กับ 3 ประเทศในอนาคต
นอกจากนี้ บีโอไอยังจะจัดกิจกรรมสร้างเครือข่ายธุรกิจระหว่างเอสเอ็มอีของไทยกับ สปป.ลาว ในกลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและธุรกิจต่อเนื่อง รวมทั้งเยี่ยมชมเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งใหม่ในแขวงหลวงพระบางซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษลำดับที่ 13 ของ สปป.ลาว
“ปัจจุบันผู้ประกอบการไทยให้ความสนใจออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจและมองหาลู่ทางเปิดตลาดการลงทุนใหม่ๆ ซึ่งบีโอไอเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่มีส่วนช่วยสนับสนุนโดยเฉพาะการนำผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเดินทางไปศึกษาพื้นที่ที่มีศักยภาพ ซึ่งพบว่าเส้นทาง LIMEC จะเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่จะยกระดับให้ผู้ประกอบการสามารถเชื่อมโยงทางด้านการค้า การลงทุน และการบริการในทุกมิติ” นายอิสระกล่าว
สำหรับหลวงพระบางเป็นพื้นที่ตอนเหนือของ สปป.ลาว ซึ่งเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่ง การศึกษา การประกอบธุรกิจ และเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและธุรกิจต่อเนื่องต่างๆ ที่มีศักยภาพและโอกาสในการลงทุนสูง