ศูนย์ข่าวขอนแก่น - มหาวิทยาลัยขอนแก่นทำสำเร็จ เปิดตัวจักรยานผ้าไหมคันแรกของโลก เผยใช้วัตถุดิบผ้าไหมที่น้ำหนักเบาแทนคาร์บอนไฟเบอร์ แต่ราคาถูกกว่าถึง 4 เท่า ทั้งสามารถรับแรงกดและยืดหยุ่นตัวสูง
วันนี้ (27 มิ.ย. 61) ที่ห้องประชุม อาคารสิริคุณากร สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผศ.ดร.รัชฎา ตั้งวงศ์ไชย ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำคณะนักวิจัยของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น แถลงข่าวเปิดตัวผลงานวิจัย จักรยานผ้าไหมคันแรกของโลก
ผศ.ดร.พนมกร ขวาของ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ หนึ่งในทีมคณะนักวิจัย เปิดเผยว่า จักรยานผ้าไหมคันแรกของโลก 2 คันต้นแบบที่นำมาแสดงเป็นการนำวัสดุใหม่มาทดแทนโครงรถจักรยานที่ทำจากคาร์บอนไฟเบอร์ที่มีน้ำหนักเบา แต่มีราคาสูงถึงโครงละ 40,000-100,000 บาท ขณะที่โครงจักรยานไหมมีต้นทุนการผลิตเพียง 15,000-20,000 บาทเท่านั้น ซึ่งถูกกว่าถึง 4 เท่า น้ำหนักเบา มีค่าการยืดหยุ่นตัวสูงเมื่อเทียบกับโครงอะลูมิเนียม
จากการทดสอบพบว่าโครงจักรยานที่ทำจากไหมผสมเรซินสามารถรับแรงกด หรือแรง Load ได้มากกว่า 1,300 นิวตัน แรงเค้น หรือ Stress ได้มากกว่า 55 เมกะปาสคาล และค่าการยืดหยุ่นตัว หรือ Flex Modulus มากกว่า 2,700 เมกะปาสคาล เมื่อเทียบกับโครงรถจักรยานอะลูมิเนียมที่มีน้ำหนักเท่ากันที่นำมาทดสอบ
ขั้นตอนการผลิตโครงจักรยานผ้าไหมคันแรกของโลกนั้น เริ่มจากการนำโครงจักรยานต้นแบบมาตัดโครงเก่าออกเพื่อใช้ข้อต่อของจักรยานเดิม จากนั้นใช้เรซินมาเชื่อมผ้าไหมเข้าด้วยกัน เมื่อได้ชิ้นส่วนครบแล้วนำมาประกอบเป็นโครงจักรยานที่ทำจากผ้าไหมเข้ากับโครงจักรยานต้นแบบเดิม จากนั้นนำเส้นไหมมาพันโดยรอบโครงจักรยานที่ทำจากผ้าไหมโดยทิ้งเรซินไว้ให้แห้งแข็งตัวเป็นเวลา 3 วัน ต่อจากนั้นนำมาขัดผิวสัมผัสให้เรียบเนียนด้วยเครื่องกลึงให้มีความสวยงาม
เข้าสู่ขั้นตอนประกอบโครงจักรยานและนำเฟรมส่วนที่รับน้ำหนักจากเบาะถึงแกนล้อหลัง ซึ่งน้ำหนักผ้าไหมที่ใส่เรซินนั้นจะเท่ากับน้ำหนักของเฟรมอะลูมิเนียม ซึ่งจักรยานต้นแบบนั้นจะมีสีเหลืองและสีขาว อย่างไรก็ตาม ทีมงานนักวิจัยได้จดสิทธิบัตรโครงรถจักรยานที่ทำจากผ้าไหมผสมเรซินเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของ มข.เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ถือได้ว่าเป็นการต่อยอดผ้าไหมไทย ที่นำเอาคุณสมบัติเรื่องความแข็งแรง ทนทานของไหมมาใช้เป็นวัสดุทดแทนคาร์บอนไฟเบอร์ ที่จะต่อยอดในเชิงพาณิชย์ให้ผู้ที่สนใจได้อีกด้วย