พระนครศรีอยุธยา - รองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ติดตามการบริหารจัดการน้ำโครงการคลองระบายน้ำหลาก บางบาล-บางไทร เร่งให้เห็นเป็นรูปธรรมในปี 2562
วันนี้ (25 ก.ค.) ที่โรงแรมกรุงศรีริเวอร์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลป์ยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการเสวนา “การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ” จัดขึ้นโดย สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
ทั้งนี้ เพื่อสร้างการรับรู้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศในระดับพื้นที่ลุ่มน้ำ โดยมี นายสุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวต้อนรับ โอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรี ยังได้ลงพื้นที่อำเภอบางบาล เพื่อติดตามความก้าวหน้าของโครงการระบายน้ำหลาก บางบาล-บางไทร พร้อมมอบเงินค่าเวนคืนที่ดินให้กับประชาชนในพื้นที่รวม 13 ราย กว่า 20 ล้านบาท
พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ เป็นการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการคลองระบายน้ำหลาก บางบาล-บางไทร เพื่อร่วมขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมในปี 2562 นี้ สำหรับโครงการคลองระบายน้ำหลาก บางบาล-บางไทร เป็นการขุดคลองระบายน้ำสายใหม่ ความยาว 22.50 กิโลเมตร ระบายน้ำได้สูงสุด 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งเทียบเท่ากับแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาในปัจจุบัน
ทั้งนี้ เนื่องจากแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นช่วงที่มีขนาดของลำน้ำแคบที่สุด ดังนั้น หากมีการระบายน้ำเกินกว่า 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะเริ่มเกิดผลกระทบต่อชุมชนริมตลิ่ง อีกทั้ง บริเวณเกาะเมืองอยุธยายังเป็นจุดบรรจบของแม่น้ำป่าสัก เมื่อรวมน้ำทั้งสองสาย จึงทำให้เกิดการชะลอน้ำบริเวณจุดบรรจบ ทำให้เกิดเหตุการณ์น้ำเอ่อล้นตลิ่งเป็นประจำ
ดังนั้น จึงจำเป็นต้องขุดคลองลัดเพิ่มความสามารถระบายน้ำจากอำเภอบางบาล-อำเภอบางไทร เพื่อลดผลกระทบจากน้ำหลากที่เกาะเมือง และการท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จจะเพิ่มศักยภาพในการใช้ประโยชน์พื้นที่เกษตรกรรมได้กว่า 2 แสนไร่ บรรเทาอุทกภัยตัวเมืองอยุธยาและพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างได้ 1.9-2.5 ล้านไร่ต่อปี และเป็นแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อการอุปโภคบริโภคถึง 15 ล้านลูกบาศก์เมตร
พร้อมกันนี้ รองนายกรัฐมนตรียังได้ลงพื้นที่คันกั้นน้ำบนคันคลองส่งน้ำ ตำบลบ้านแพน อำเภอเสนา และตรวจเยี่ยมการรับน้ำหลากสำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ โดยกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางระบายน้ำ ซ่อมแซมอาคารควบคุมน้ำให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน เตรียมเครื่องจักรเครื่องมือในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ตลอดจนการแก้ไขปัญหาให้ทันต่อการรับน้ำ