ศูนย์ข่าวศรีราชา - คสช.เข้มปัญหารถโดยสารสาธารณะ หลังนักท่องเที่ยวร้องเรียนข้ามประเทศ ถูกแท็กซี่พัทยาคิดค่าบริการเอาเปรียบ ย้ำต้องแก้ปัญหาให้เบ็ดเสร็จ ด้านผู้ประกอบการระบุอัตราเริ่มต้นไม่พอค่าครองชีพ เสนอขนส่งปรับอัตราที่เป็นธรรม
วันนี้ (19 ก.ค.) พล.ต.ภพอนันฒ์ เหลืองภาณุวัฒน์ รองประธานสภาเมืองพัทยา ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดชลบุรี (คสช.) ได้เรียกประชุมส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งตัวแทนสำนักงานขนส่งจังหวัดชลบุรี สาขาอำเภอบางละมุง สมาคมภาคธุรกิจการท่องเที่ยว เจ้าหน้าที่ตำรวจท่องเที่ยวพัทยา เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองพัทยา กำลังเจ้าหน้าที่ทหารหน่วยรักษาความสงบ มทบ.14 เมืองพัทยา และตัวแทนผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะในเขตเมืองพัทยาจำนวน 3 ราย ประกอบด้วย สหกรณ์แท็กซี่โลมาพัทยา จำกัด สหกรณ์แท็กซี่พัทยา จำกัด และสหกรณ์แท็กซี่พัฒนาบ่อทอง ที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา จ.ชลบุรี เพื่อร่วมหารือมาตรการการจัดระเบียบการเดินรถสาธารณะในเขตเมืองท่องเที่ยว
หลังได้รับการร้องเรียนจากประชาชน และนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ว่า ปัจจุบันรถโดยสารประเภทแท็กซี่ในเขตเมืองพัทยาที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ไม่กดมิเตอร์คิดค่าบริการตามกฎหมาย แต่กลับเป็นการให้บริการในลักษณะเช่าเหมาคัน จนทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความไม่มั่นใจในมาตรฐาน และหวั่นว่าจะถูกเอารัดเอาเปรียบ ซึ่งกรณีดังกล่าวสร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก
พล.ต.ภพอนันฒ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้รับการร้องเรียนจากนักท่องเที่ยวชาวไทยที่อยู่ในต่างประเทศผ่านมาทางสำนักงานตำรวจท่องเที่ยวว่าขณะเดินทางมาท่องเที่ยวในพื้นที่เมืองพัทยาและใช้บริการรถโดยสารแท็กซี่สาธารณะ ปรากฏว่า การให้บริการของรถเหล่านี้ทุกครั้งผู้ให้บริการไม่เคยกดมิเตอร์คิดเงินตามที่กฎหมายกำหนดไว้แต่อย่างใด แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการให้บริการในลักษณะแบบเช่าเหมาคัน ซึ่งทำให้มีราคาสูงแม้จะเป็นการเดินทางในระยะสั้นก็ตาม กรณีดังกล่าวจึงอยากให้มีมาตรการในการควบคุมเพื่อให้เกิดเป็นมาตรฐานเหมือนแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ในประเทศ และทั่วโลก เพราะอาจมีการเรียกรับผลประโยชน์เกินจริงจนทำให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ได้ จึงมีได้มีการเชิญผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดเพื่อร่วมหารือ และหาทางแก้ไข
และจากการรับฟังข้อมูลทราบว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะแท็กซี่ในพื้นที่เมืองพัทยา จำนวน 3-4 ราย ซึ่งมีจำนวนรถรวมกันมากกว่า 500 คัน จึงทำให้เกิดการแข่งขันสูง กรณีนี้ยังไม่นับรวมรถต่างถิ่นที่เข้ามาให้บริการอีกจำนวนมาก ขณะที่ข้อมูลจากผู้ประกอบการเองระบุว่ากำหนดราคาค่าบริหารตามมิเตอร์ที่ภาครัฐกำหนด คือ 40 บาทต่อ 2 กม.แรกนั้น ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย และค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยวอย่างพัทยา จึงจำเป็นต้องอาศัยการให้บริการแบบตกลงราคา และเหมาคันเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม การกระทำดังกล่าวถือเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง และฝ่าฝืนทางกฎหมาย จึงจะมีการเรียกประชุมผู้ประกอบการรถทั้งหมดในวันพฤหัสบดีที่ 26 กรกฎาคม ณ ที่ว่าการอำเภอบางละมุง เพื่อชี้แจงเหตุผล และการขอความร่วมมือในการประกอบธุรกิจอย่างถูกต้อง และลดปัญหาที่เกิดขึ้น
พล.ต.ภพอนันฒ์ กล่าวอีกว่า การแก้ไขปัญหาในเบื้องต้นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งผู้ประกอบการ ภาคธุรกิจท่องเที่ยว รวมทั้งหน่วยงานที่ควบคุมกำกับดูแลด้านกฎหมาย อย่าง ตำรวจ ทหาร และเมืองพัทยา ในการกวดขัน และบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง
“สำหรับปัญหาเรื่องอัตราค่าโดยสารที่เป็นปัญหานั้นขณะนี้จะประสานไปยัง คสช.เพื่อหาทางพิจารณาแก้ไข รวมทั้งได้มอบหมายให้ทางสำนักงานขนส่งจังหวัดชลบุรี นำเรื่องเสนอไปยังส่วนกลางเพื่อขอพิจารณาปรับราคาให้เกิดความเหมาะสม และเป็นธรรมทั้งในส่วนของผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยว ซึ่งจะอยู่ในอัตราไม่เกิน 100 บาทต่อ 2 กม.แรก คล้ายกับแหล่งท่องเที่ยวอย่างเกาะสมุย ใน จ.สุราษฎร์ธานี เพียงแต่มีข้อแม้ที่จะต้องปรับมาตรฐานของการให้บริการให้คล้ายกัน ทั้งด้านพนักงานขับ และรถโดยสารที่ต้องปรับให้เข้าข่ายในมาตรฐานการบริการในลักษณะ VIP ด้วย ซึ่งกรณีนี้จะมีการเร่งรัดให้แล้วเสร็จโดยเร็ว“”
พล.ต.ภพอนันฒ์ กล่าวต่อว่า นอกจากปัญหาเรื่องของรถแท็กซี่แล้ว ปัจจุบันยังได้มอบหมายให้เมืองพัทยาเร่งดำเนินการในการพัฒนาปรับปรุงจุดจอดรถสาธารณะ ที่พักคอยผู้โดยสาร และการทาสีตีเส้นให้ชัดเจนตามถนนสายหลัก เพื่อความสะดวกในการตรวจสอบ ซึ่งจะต้องมีมาตรฐานตามที่เคยกำหนดไว้ว่าต้องวิ่งตามเส้นทางสัมปทาน จำนวน 4 เส้นทางของรถโดยสารสาธารณะที่กำลังจะมีการกำหนดให้ระบุสีของเส้นทาง พร้อมประกาศใช้ในเร็ววันนี้ รวมทั้งการจอดรับส่งผู้โดยสารที่ตรงตามป้ายเพื่อลดปัญหาการจราจร อีกทั้งจะมีการสนธิกำลังทั้ง ทหาร ตำรวจ เทศกิจ ในการออกกวดขันตรวจจับอย่างจริงจังกับผู้ประกอบการที่ตั้งโต๊ะให้บริการเช่าเหมาคันแบบผิดกฎหมายทั่วเขตเมืองพัทยา โดยจะมีการใช้อัตราโทษสูงสุด รวมไปถึงการจอดรถในที่สาธารณะด้วย
โดยมาตรการทั้งหมดนี้หลังดำเนินการแล้ว หากพบว่ามีการฝ่าฝืนก็จะใช้อำนาจ คสช.ในการตรวจยึดรถ และเสนอให้เพิกถอนใบอนุญาตต่อไป