น่าน - ชาวบ้าน เด็กเล็กในชุมชนเจดีย์ทยอยป่วย ต้องส่งเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหลังสูดดมก๊าซแอมโมเนียโรงงานน้ำแข็งรั่วเมื่อวานนี้ พร้อมรวมตัวเรียกร้องถามหาความรับผิดชอบ เผยทนทั้ง กลิ่นเหม็น เสียงดัง น้ำเสีย นานนับสิบปี
ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าหลังจากเครื่องผลิตน้ำแข็งของโรงงานผลิตน้ำแข็งตั้งจิตนุสรณ์ ต.ดู่ใต้ อ.เมืองน่าน ขัดข้องจนเกิดสารเคมีก๊าซแอมโมเนียรั่วไหลออกฟุ้งกระจายไปทั่วบริเวณ จนมีคนงาน และชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงมีอาการแสบตาและเวียนศีรษะ แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก เป็นลมหามส่งโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมา
ล่าสุดวันนี้ (28 มิ.ย.) พบว่าก๊าซแอมโมเนียที่รั่วได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยชาวบ้าน หมู่ที่ 15 บ้านเจดีย์ ซึ่งมีบ้านพักอยู่ติดกับโรงงานหลายรายมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ทยอยเข้ารักษาที่โรงพยาบาลน่าน โดยหนึ่งในผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบเป็นเด็กเล็กอายุ 2 เดือน มีอาการเป็นไข้ หายใจหอบ เร่งนำส่งรักษาโดยด่วน นอกจากนี้ยังพบว่าต้นไม้รอบรัศมีโรงงาน 100 เมตรมีสภาพใบไหม้ยืนต้นตาย ขณะที่ปลาในร่องน้ำชุมชนลอยตาย และสัตว์เลี้ยงอย่างสุนัข และแมวมีอาการป่วย และมีแมวตายไปแล้ว 1 ตัว
นางเรณู เพชรนิ่ม อายุ 66 ปี อยู่บ้านเลขที่ 242 หมู่ 15 บ้านเจดีย์ ต.ดู่ใต้ อ.เมือง จ.น่าน ซึ่งมีบ้านอยู่ด้านหลังโรงงานน้ำแข็ง เปิดเผยว่า ชาวบ้านกว่า 60 หลังคาเรือนได้รับความเดือดร้อนจากโรงงานน้ำแข็งที่ขัดข้องจนก๊าซแอมโมเนียรั่วออกมา เมื่อคืนมีหลายรายต้องช่วยกันพาส่งโรงพยาบาลกลางดึก และอีกจำนวนมากที่มีอาการเวียนศีรษะ ระคายเคืองทั้งผิวหนัง และดวงตา มีอาการแสบร้อน ทั้งนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ใช่ครั้งแรก เคยเกิดมาแล้วเมื่อปี 2556 นอกจากนี้ยังมีปัญหาน้ำเสีย ขยะ ที่โรงงานมักปล่อยทิ้งออกมาในช่วงกลางดึก และท่อน้ำทิ้งเชื่อมต่อกับร่องน้ำทิ้งของชุมชนส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วชุมชน สร้างความเดือดร้อนมานานนับสิบปี
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอเมืองน่าน พร้อมด้วยผู้บริหารเทศบาลตำบลดู่ใต้ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดน่าน อุตสาหกรรมจังหวัดน่าน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดน่าน และหน่วยทหารมณฑลทหารบกที่ 38 ได้เข้าตรวจสอบที่โรงงานเพื่อตรวจหาสาเหตุของการรั่วไหลของก๊าซแอมโมเนียอย่างละเอียดอีกครั้ง ซึ่งพบว่าเป็นท่อก๊าซแอมโมเนียที่ใช้ทำความเย็นในการผลิตก้อนน้ำแข็งเกิดแตกทำให้ก๊าซแอมโมเนียรั่วออกมา อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้เร่งนำรถน้ำเข้าฉีดล้างร่องน้ำ และบริเวณโดยรอบโรงงานเพื่อควบคุมการระเหยของสารเคมี
สำหรับชาวชุมชนบ้านเจดีย์มีประชากรทั้งหมด 178 หลังคาเรือน ที่มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบจากโรงงานน้ำแข็ง และมีมากกว่า 50 หลังคาเรือนที่อยู่แวดล้อมรอบโรงงานที่ต้องได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน