xs
xsm
sm
md
lg

มช.ผนึก 13 อปท.ทั่วน่านดึงจุดเด่นวิจัยต่อยอด แก้ปัญหาน้ำ-สารเคมี-พืชทางเลือก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


น่าน - คณะเกษตรศาสตร์ มช.จับมือ 13 อปท. 7 อำเภอทั่วเมืองน่าน เปิดการวิจัยแนวทางพัฒนาขีดความสามารถเกษตรกร-เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน แก้ปัญหาน้ำ สารเคมี พืชทางเลือกตามบริบทพื้นที่

ผศ.ดร.ชาญชัย แสงชโยสวัสดิ์ อาจารย์คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.), ผศ.ดร.บุศรา ลิ้มนิรันดร์กุล, ดร.พนมศักดิ์ พรหมบุรมย์ ได้เปิดเวทีประชุมสังเคราะห์ผลโครงการวิจัยการพัฒนาท้องถิ่น และแนวทางการขับเคลื่อนต่อยอดเพื่อการเกษตรและทรัพยากรที่ยั่งยืน เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ห้องประชุมโรงแรมเทวราช อ.เมืองน่าน

โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน นักวิชาการน่านฟอรั่ม และนักวิชาการภาคส่วนต่างๆ รวมทั้งผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วทั้งจังหวัดน่าน รวม 130 คน เข้าร่วมประชุม เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และเสนอความคิดเห็น เกิดการพัฒนาต่อยอด

ผศ.ดร.ชาญชัย แสงชโยสวัสดิ์ หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า โครงการวิจัยดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจาก สกว. มุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาขีดความสามารถของเกษตรกรและการพัฒนาท้องถิ่นด้วยกลไกระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นหน่วยงานใกล้ชิดชุมชน และมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่น เพื่อการจัดการและต่อยอดผลิตผลทางการเกษตรและทรัพยากรอย่างยั่งยืน

โดยต้องคิดและทำบนฐานทรัพยากรธรรมชาติและบริบทในจังหวัดน่าน เพื่อหาแนวทางการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนผ่านกระบวนการวิจัยและพัฒนาท้องถิ่น โดยมี 13 อปท.ที่เข้าร่วมโครงการวิจัย ได้แก่ ฝายแก้ว, เปือ, พระธาตุ, ผาสิงห์, สะเนียน, เจดีย์ชัย, ยาบหัวนา, บัวใหญ่, แม่จริม, สวด, เมืองจัง, ถืมตอง และปอน ซึ่งเป็น อปท.ในพื้นที่อำเภอเชียงกลาง อ.ปัว อ.ภูเพียง อ.นาน้อย อ.แม่จริม อ.เวียงสา และ อ.เมืองน่าน

ดำเนินการวิจัยตามบริบทสภาพปัญหาของพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และการจัดการฐานข้อมูล การวิจัยด้านการจัดการพืชทางเลือก พืชอาหารปลอดภัย เกษตรปลอดภัย และการวิจัยด้านการจัดการผลิตพืชเชิงเศรษฐกิจ

เช่น อบต.ยาบหัวนา อ.เวียงสา วิจัยเรื่องการพัฒนาระบบเกษตรผสมผสานพืชอาหารที่มีข้าวไร่เป็นพืชหลัก, อบต.เมืองจัง อ.ภูเพียง วิจัยเรื่องการพัฒนากระบวนการผลิตและศักยภาพของกลุ่มมะม่วงเพื่อการส่งออก, อบต.ผาสิงห์ อ.เมืองน่าน วิจัยเรื่องการส่งเสริมพัฒนาการปลูกพืชทดแทนเพื่อลดปริมาณการใช้สารเคมีของเกษตรกร เป็นต้น

การจัดเวทีสังเคราะห์ผลโครงการวิจัยครั้งนี้ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ความร่วมมือ และเกิดแนวทางการขับเคลื่อนต่อยอดเพื่อการเกษตรและทรัพยากรที่ยั่งยืนต่อไป



กำลังโหลดความคิดเห็น