xs
xsm
sm
md
lg

ทช. เปิดเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลวิชาการ หวังลดปัญหาขยะจากทะเล-บนบก จริงจัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวศรีราชา- ทช. จัดประชุมวิทยาศาสตร์ทางทะเล ครั้งที่ 6 พร้อมเปิดเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลวิชาการทางทะเล ด้าน รมต.ทรัพยากรฯ ย้ำทุกฝ่ายต้องร่วมมือแก้ไขจริงจัง โดยเฉพาะการลดใช้ขยะพลาสติกที่ย่อยสลายยาก พร้อมมาตรการลดขยะจริงจัง




 
วันนี้ (18 มิ.ย.) พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมด้วยนายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมเป็นประธานประชุมวิทยาศาสตร์ทางทะเล ครั้งที่ 6 ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมบางแสนเฮอร์ริเทจ อ.เมือง จ.ชลบุรี โดยมี นายภวัต เลิศมุกดา รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ,รศ.ดร.สมนึก ธีระกุลพิศุทธิ์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา และ ผศ.ดร.ธรรมศักดิ์ ยีมิน นายกสมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งประเทศไทย ให้การต้อนรับ และมีข้าราชการและเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ,สถานศึกษาและนักวิชาการ เข้าร่วม


การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “ One World One Ocean: New and More Value of the Sea” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้คณาจารย์ ,นักวิจัย ,นิสิต ,นักศึกษา, หน่วยงานราชการ ,ภาคเอกชนและผู้ที่สนใจ ได้นำเสนอผลงานวิชาการ แลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นและประสบการณ์งานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล รวมถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางทะเล เพื่อเพิ่มมูลค่าหรือสร้างมูลค่าใหม่ให้กับทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลอีกด้วย


 
พลเอกสุรศักดิ์ กล่าวว่าการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์ทางทะเล เป็นเรื่อง สำคัญต่อการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่ง เนื่องจากทะเลและมหาสมุทร เป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญของประเทศไทยและของโลก ดังนั้นทุกหน่วยงานทั่วโลกจึงให้ความสำคัญ เพราะเป็นแหล่งสัตว์น้ำที่เป็นอาหาร ,เส้นทางการเดินเรือ ,เป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ ฯลฯ


 
ทั้งนี้ที่ผ่านมาการดูแล หรือรักษาทรัพยากรต่างๆในทะเล ยังไม่ถูกต้องและเหมาะสมเท่าที่ควร ดังนั้นนักวิชาการจะต้องให้ความรู้และความเข้าใจกับประชาชนให้เพิ่มมากขึ้น โดยปัจจุบันงานด้านวิชาการ เริ่มเป็นที่ยอมรับของประชาชน เช่น กรณีการปิดเกาะตาชัย อุทยานแห่งชาติสิมิลัน กว่า 2 ปีทำให้ปัจจุบันแนวปะการังเริ่มฟืนตัวแล้ว 70-80 % และเมื่อสมบูรณ์ 100 % ก็จะสามารถกลับมาเปิดให้บริการได้ดังเดิม


ส่วนปัญหาขยะแนวชายฝั่งทะเลในเขตพื้นที่เทศบาลต่างๆของ จ.จังหวัดชลบุรีนั้น ส่วนใหญ่ไม่ใช่ขยะในพื้นที่ แต่เป็นขยะที่ถูกคลื่นลมพัดมาจากที่อื่น และล้วนเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากฝีมือมนุษย์ และธรรมชาติ จึงจำเป็นจะต้องลดปัญหาขยะ ซึ่ง 80 % จากบนบก และ 20 % จากทะเล ให้ได้โดยเร็วโดยเฉพาะถุงพลาสติก ที่ย่อยสลายยากและยังใช้กันเป็นจำนวนมาก


“ ขณะนี้กระทรวงฯเริ่มรณรงค์ลดขยะพลาสติก เช่น พลาสติกรัดขวดน้ำดื่ม ที่ประสบผลสำเร็จในระดับหนึ่งแล้ว และช่วงนี้มีโครงการลดการใช้พลาสติก ในเขตอุทยานแห่งชาติ , ในสวนสัตว์ต่างๆ ,ในส่วนราชการ ,ในตลาดนัดต่างๆ และในขณะนี้ภาคเอกชน เช่น ห้างสรรพสินค้าก็เริ่มมีการรณรงค์แล้วเช่นกัน โดยในอนาคตจะรณรงค์ให้ทั่วทั้งประเทศ”


พลเอกสุรศักดิ์ กล่าวว่าจากนี้ไปจะหามาตรการในการส่งเสริมให้มีการคัดแยกขยะพลาสติกอย่างถูกวิธี เพื่อให้สามารถนำกลับไปใช้ใหม่ได้ ขณะที่ปัญหาขยะซึ่งมาจากทะเลนั้น ขณะนี้ทางกระทรวงฯ มีแนวความคิดที่จะนำบูมไปปิดกั้นบริเวณปากน้ำก่อนไหลลงทะเล และเข้าไปดำเนินการจัดเก็บ โดยบูมที่ปิดกั้นนั้นจะต้องมีการออกแบบเพื่อไม่ให้ไปขวางเส้นทางการจราจรหรือปากน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาขยะได้อย่างครบวงจร


นอกจากนั้นภายในงานยังมีพิธีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ เพื่อความร่วมมือด้านการศึกษาและการจัดการทรัพยากรทางทะเล ระหว่างกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งกับมหาวิทยาลัยบูรพา ,มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชมงคลศรีวิชัย ด้วย






กำลังโหลดความคิดเห็น