เชียงราย - หวั่นถูกนำไปใช้เป็นสารตั้งต้น เจ้าหน้าที่ผสานกำลังสั่งยึดอายัดเรียบวุธ พร้อมแจ้งข้อหาตัวแทนบริษัทนำเข้า-เจ้าของโกดัง หลังพบขน “โซเดียมไซยาไนด์” ซุกชายแดนจ่อส่งเข้าพม่า
วันนี้ (18 มิ.ย.) เจ้าหน้าที่จากอุตสาหกรรม จ.เชียงราย, ฝ่ายความมั่นคง อ.เชียงแสน, ตำรวจ สภ.เชียงแสน, ร้อย.ทพ.3103 ฉก.ทพ.31 กองกำลังผาเมือง, นรข.เขตเชียงราย, สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เข้าทำการตรวจยึดของกลางสารเคมีประเภทโซเดียม ไซยาไนด์ ของบริษัทจิ่นคุน เทรดดิ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด จาก จ.ชลบุรี ที่นำมาเก็บเอาไว้ที่โกดังหลายแห่งพื้นที่ชายแดนไทย-สปป.ลาว ด้าน อ.เชียงแสน เพื่อเตรียมส่งออกไปยังประเทศพม่า
การตรวจยึดมีขึ้นหลังจากเจ้าหน้าที่ตรวจพบว่ามีการเก็บสารเคมีดังกล่าวถังละประมาณ 50 กิโลกรัม จำนวน 510 ถัง หรือประมาณ 25.5 ตัน เตรียมส่งออกไปทางรถบรรทุกทางบกผ่าน อ.แม่สาย จ.เชียงราย-จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศพม่า เนื่องจากไม่ได้รับอนุญาตให้ขนส่งไปทางเรือแม่น้ำโขงได้ โดยเอาไว้ที่โกดังรับฝากสินค้าเลขที่ 420 หมู่บ้านสบคำ หมู่ 5 ต.เวียง อ.เชียงแสน เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ล่าสุดเมื่อวันที่ 14-15 มิ.ย.นี้ เจ้าหน้าที่ยังพบว่าเอกชนรายเดียวกันได้เก็บสารเคมีโซเดียม ไซยาไนด์เอาไว้ที่โกดังรับฝากสินค้าของบริษัท ธงหัง อิมพอร์ท แอนด์ เอ็กซ์พอร์ท จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 168 หมู่ 6 ต.เวียง อ.เชียงแสน จำนวน 960 ถังด้วย หรือประมาณ 48 ตัน
เจ้าหน้าที่ระบุว่า สารเคมีโซเดียมไชยาไนด์ ที่มีการนำฝากเอาไว้ที่โกดังทั้ง 2 แห่ง ไม่มีใบอนุญาตครอบครองและเก็บรักษา รวมทั้งทางเอกชนก็ไม่ได้แจ้งสถานที่พักหรือเก็บสินค้าก่อนส่งออกนอกราชอาณาจักรเอาไว้ด้วย จึงได้แจ้งข้อหาว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535
เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้ทำการยึดอายัดเอาไว้ และได้เชิญเจ้าของโกดังทั้ง 2 แห่ง รวมทั้งนายหยาง ตง ผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจากบริษัท จิ่นคุน เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ในการดูแลสารเคมีดังกล่าว ให้ไปรับทราบข้อหาเก็บรักษาวัตถุอันตรายโดยไม่แจ้งให้เจ้าหน้าที่ และลงบันทึกไว้เป็นหลักฐานรวมทั้งให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับพนักงานสอบสวน สภ.เชียงแสน พร้อมแจ้งข้อกล่าวหาเจ้าของโกดังว่าตั้งโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาตและมีไว้ครอบครองซึ่งวัตถุอันตราย (โซเดียมไซยาไนด์) โดยไม่ได้รับอนุญาตด้วย
สำหรับสารโซเดียมไซยาไนด์ มีการขออนุญาตนำเข้าจากประเทศจีนผ่านทางท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี และแจ้งขอส่งออกไปยังปลายทางที่ประเทศพม่า โดยอ้างว่าจะใช้เพื่อนำไปใช้ในกิจการเหมืองแร่ และก่อนหน้านี้ได้ส่งออกไปได้แล้ว 450 ถัง
อย่างไรก็ตามเนื่องจากสารเคมีดังกล่าวมีองค์ประกอบที่สามารถนำไปใช้เป็นสารตั้งต้นเพื่อการผลิตยาเสพติดได้หลายชนิดทั้งยาบ้า และยาไอซ์ โดยเฉพาะชายแดนด้าน จ.เชียงราย ใกล้กับแหล่งผลิตยาเสพติดในฝั่งประเทศเพื่อนบ้านด้วย ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องคุมเข้มในเรื่องนี้