xs
xsm
sm
md
lg

ยันอาหารกลางวัน นร.สพป.เขต 1 อุทัยฯ ไม่มีโกงแต่ยังไม่ได้งบ ครูต้องควักสำรองจ่าย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อุทัยธานี - สพป.ร่วมกับศึกษาธิการ ปูพรมลงตรวจติดตามโครงการอาหารกลางวันทั่วเมืองอุทัย พบโรงเรียน 67% ยังไม่ได้งบจากท้องถิ่น ผู้บริหาร-ครู ต้องสำรองเงินจ่าย พร้อมทำสวนครัว-เลี้ยงไก่ไข่เสริม



วันนี้ (15 มิ.ย.) นายบรรพต เหมือนทอง รองผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุทัยธานี เขต 1 (รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุทัยธานี เขต 1) พร้อมด้วยศึกษาธิการจังหวัดอุทัยธานี นำเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจติดตามการดำเนินการจัดโครงการอาหารกลางวันของโรงเรียนในเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุทัยธานี เขต 1 จำนวน 85 โรงเรียน หลังจากทางสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้สั่งการให้ศึกษาธิการจังหวัดทั่วประเทศกำหนดแนวทางการตรวจติดตาม โครงการอาหารกลางวันนักเรียน พร้อมจัดตั้งคณะกรรมการติดตามภายใน 25 มิ.ย. และรายงานให้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ภายในวันที่ 29 มิ.ย. 61 นี้

เนื่องจากปรากฏข่าวการดำเนินงานโครงการอาหารกลางวันสำหรับเด็กนักเรียนว่าโรงเรียนบางแห่งมีการจัดอาหารที่ไม่เหมาะสม ขาดคุณค่าทางโภชนาการให้แก่นักเรียน


โดยในครั้งนี้ เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุทัยธานี เขต 1 และส่วนที่เกี่ยวข้องได้กระจายทีมเจ้าหน้าที่ ปูพรมลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการดังกล่าว เพื่อให้สามารถสำรวจและรวบรวมข้อมูลของโรงเรียนในเขตพื้นที่ได้อย่างรวดเร็วและถูกต้องมากที่สุด เช่น โรงเรียนบ้านวังเตย โรงเรียนบ้านวังเกษตร และโรงเรียนบ้านคลองข่อย โรงเรียนวัดวังบุญ ฯลฯ พบว่าแต่ละโรงเรียนได้มีการบริหารจัดการโครงการอาหารกลางวัน ในรูปแบบของการทำสวนครัวเพื่อเพิ่มโภชนาการทางอาหารให้แก่นักเรียน เพื่อให้ในแต่ละมื้อกลางวันนักเรียนได้มีอาหารรับประทานที่เพียงพอ และมีประโยชน์มากที่สุดในแต่ละระดับที่โรงเรียนนั้นๆ จะสามารถบริหารจัดการได้ตามความเหมาะสม


นายบรรพตกล่าวว่า จากการลงพื้นที่ตรวจดูโครงการอาหารกลางวัน ของโรงเรียนในเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุทัยธานี เขต 1 จำนวน 85 โรงเรียน พบว่าทุกโรงเรียนจัดโครงการอาหารกลางวันได้อย่างมีคุณภาพ และมีอาหารอย่างน้อย 2 อย่าง คือ รสจืด และรสจัด และบางสัปดาห์จะมีประเภทของหวาน แล้วก็ผลไม้เสริมให้ด้วย

แต่ยังมีปัญหาที่พบในขณะนี้ คือ โรงเรียนในสังกัด สพป.เขต 1 ยังไม่ได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนจากท้องถิ่น ซึ่งมีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่ได้นั้นคือประมาณ 33 เปอร์เซ็นต์ จากทั้งหมด 85 โรงเรียน หรือได้รับแล้วเพียง 28 โรงเรียน ส่วนที่เหลือนั้นก็พยายามที่จะติดตามจากทางท้องถิ่นให้ช่วยดำเนินการจัดสรรงบประมาณมาให้โดยเร็ว และในช่วงที่ยังไม่ได้รับจัดสรรเข้ามาทางโรงเรียนก็ต้องหาใช้เงินส่วนอื่น เช่น เงินของโรงเรียนเอง ตลอดจนเงินของผู้บริหารโรงเรียนบ้าง ของครูบ้าง สำรองจ่ายไปก่อน รวมทั้งได้มีการสนับสนุนให้โรงเรียนดำเนินการพืชผักสวนครัว และอาหารเสริม เช่น การเลี้ยงไก่ไข่ เป็ดไข่ ที่สามารถนำมาลดค่าใช้จ่ายให้แก่ทางโรงเรียนได้ส่วนหนึ่งเพื่อใช้ในการประกอบอาหาร



กำลังโหลดความคิดเห็น