อุดรธานี - อพท.5 พื้นที่พิเศษเลย จับมือกรมพัฒนาการท่องเที่ยว สปป.ลาว และเครือข่ายสี่เหลี่ยมวัฒนธรรมล้านช้าง ลงพื้นที่ศึกษาเส้นทางท่องเที่ยวแบบคาราวานรถยนต์ เส้นทางวงจรสี่เหลี่ยมวัฒนธรรมล้านช้าง ไทย-สปป.ลาว หนองคาย-อุดรธานี-หนองบัวลำภู-เลย-ไชยะบุรี-แขวงเวียงจันทน์ เผยเป็นทริปทัวร์ใหม่ที่เต็มไปด้วยเสน่ห์วิถีท้องถิ่น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างวันที่ 25-29 พ.ค. 61 ที่ผ่านมา องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) สำนักงานพื้นที่พิเศษเลย ร่วมกับกรมพัฒนาการท่องเที่ยว สปป.ลาว และเครือข่ายสี่เหลี่ยมวัฒนธรรมล้านช้าง ซึ่งมีสมาชิกฝั่งไทย ประกอบด้วย สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดอุดรธานี หนองคาย หนองบัวลำภู และเลย และสมาชิกฝั่ง สปป.ลาว
ประกอบด้วย ธุรกิจท่องเที่ยวแขวงเวียงจันทน์ แขวงหลวงพระบาง แขวงไชยะบุรี ได้ร่วมเดินทางศึกษาเส้นทางท่องเที่ยวแบบคาราวานรถยนต์ เส้นทางวงจรสี่เหลี่ยมวัฒนธรรมล้านช้าง ไทย-สปป.ลาว หนองคาย-อุดรธานี-หนองบัวลำภู-เลย-ไชยะบุรี-แขวงเวียงจันทน์ โดยมีนายธรรมนูญ ภาคธูป ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษเลย (อพท.5) นำทีมสำรวจ
ขบวนคาราวานได้เริ่มออกเดินทางผ่านเมืองต่างๆ ทั้งในประเทศไทย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีจุดเริ่มต้น และสิ้นสุดคาราวานที่จังหวัดหนองคาย โดยเส้นทางคาราวานรถยนต์ในประเทศไทย คณะได้สำรวจแหล่งท่องเที่ยวเด่นๆ ในจังหวัดหนองคาย อุดรธานี หนองบัวลำ และเลย เช่น วัดโพธิ์ชัย ศูนย์วัฒนธรรมไทย-จีน สุสานหอยหิน 150 ล้านปี สวนเกษตรพ่อบัวพันธ์ และวิถีชีวิตชาวบ้านอาฮี ณ อ.ท่าลี่
ส่วนเส้นทางคาราวานฝั่ง สปป.ลาว คณะได้สำรวจแหล่งท่องเที่ยวเมืองปากลาย แขวงไชยะบุรี และเมืองสานะคาม แขวงเวียงจันทน์ เช่น พระธาตุนางสามผิว วัดสีมุงกุมบ้านใหญ่ วัดใหญ่ผาหุด ประตูไซ พระธาตุหลวงนครหลวงเวียงจันทน์ สวนวัฒนธรรมเชียงควน
นายธรรมนูญ ภาคธูป ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษเลย (อพท.5) กล่าวว่า ทริปสำรวจเส้นทางครั้งนี้เรามีการสำรวจเส้นทางจากจังหวัดหนองคาย อุดรธานี หนองบัวลำภู เลย ไชยะบุรี นครหลวงเวียงจันทน์ สิ่งหนึ่งที่เราได้พบจากการสำรวจ คือ ความสามัคคีเข้มแข็งร่วมมือของเครือข่ายฯ ตั้งแต่วันแรกจนวันสุดท้าย การท่องเที่ยวในวงจรสี่เหลี่ยมวัฒนธรรมล้านช้างจะเกิดขึ้นได้สิ่งสำคัญคือภาคเอกชนที่ร่วมทดสอบเส้นทางแล้วเอกชนที่ร่วมลงพื้นที่จะต้องขายเส้นทางท่องเที่ยวนี้ให้ได้ ภายใต้การสนับสนุนของส่วนราชการทั้งไทย และ สปป.ลาว
ยกตัวอย่างเส้นทางที่ได้สำรวจตั้งแต่จังหวัดเลยไปแขวงไชยะบุรี พบว่ามีสินค้าด้านการท่องเที่ยวที่น่าสนใจเยอะมาก เพียงแต่ว่าที่ผ่านมาชาวบ้านอาจจะขาดความมั่นใจในการต้อนรับนักท่องเที่ยว เนื่องจากชาวบ้านทำอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก แต่เมื่อลงพื้นที่แล้วพบว่าชาวบ้านพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยว ซึ่งจุดขายก็คือวิถีชีวิตของชาวบ้าน
ด้านนายทินกร ทองเผ้า นายกสมาคมธุรกิจท่องที่ยวจังหวัดอุดรธานี ตัวแทนเครือข่ายสี่เหลี่ยมวัฒนธรรมล้านช้าง กล่าวว่า ภาพรวมทั้งหมดที่เราร่วมเดินทางกันในทริปนี้ สำหรับฝั่งประเทศไทยสินค้าด้านการท่องเที่ยวเราได้จัดเตรียมไว้อย่างลงตัว ส่วนฝั่งของ สปป.ลาว ก็เป็นอีกรูปแบบมิติหนึ่งที่ใหม่สำหรับการท่องเที่ยว
กลุ่มลูกค้าที่ชอบการเดินทางแบบนี้เรามีอยู่ในมือ แต่จะทำอย่างไรให้ลูกค้าได้เข้ามาสัมผัส ซึ่งก็เป็นโจทย์สำคัญที่เราภาคธุรกิจการท่องเที่ยวจะร่วมกันตอบโจทย์ให้ได้
นายทินกรกล่าวอีกว่า หลังจากนี้จะต้องร่วมกันวางแผนประชาสัมพันธ์และหาข้อมูลป้อนลูกค้าให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้ ข้อมูลต่างๆ เราต้องพึ่งภาคราชการทั้งสองฝั่งในการช่วยประชาสัมพันธ์ โดยเส้นทางที่เราไปในครั้งนี้คาดว่าในช่วงปลายฝนต้นหนาว สภาพภูมิประเทศแบบนี้เหมาะแก่การนำนักท่องเที่ยวทั้งสองฝั่งเข้าสัมผัส
ทั้งนี้ เรื่องของเส้นทาง ที่พัก และอาหาร ไม่ใช่อุปสรรคสำหรับนักท่องเที่ยว เพราะนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวเขาเตรียมพร้อมอยู่แล้ว ถ้าเราให้ข้อมูลแก่เขาดีพอและพูดถึงความเป็นจริงว่าเขาจะได้เจอกับอะไรบ้างเมื่อไปถึง