xs
xsm
sm
md
lg

เปิดใจร่างทรงกินเลือด-เนื้อควายสด เซ่นวิญญาณปู่แสะ-ย่าแสะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เชียงใหม่ - นักท่องเที่ยว-ชาวแม่เหียะ เชียงใหม่ แห่ร่วมงานประเพณีเลี้ยงดง บวงสรวงวิญญาณยักษ์ปู่แสะ-ย่าแสะ สานประเพณีเก่าแก่กว่า 200 ปี ล้มควายดำตัวเขื่องให้ร่างทรงกินเลือด-เนื้อสดๆ ขอพรให้บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุข ป่าอุดมสมบูรณ์ ฝนตกต้องตามฤดูกาล




วันนี้ (28 พ.ค.) ชาวบ้านหมู่ 3 บ้านป่าจี้ ต.แม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่, เทศบาลเมืองแม่เหียะ ร่วมกับสภาวัฒนธรรมตำบลแม่เหียะ และทุกภาคส่วนได้จัดงานประเพณีเลี้ยงดง หรือพิธีบวงสรวงปู่แสะ-ย่าแสะ ที่บริเวณลานหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ที่ 4 เชิงดอยคำด้านทิศตะวันตก ภายใต้แนวคิด “พลังศรัทธา สู่การรักษาผืนป่าอย่างยั่งยืน” เพื่อขอให้ดูแลป่าไม้ บ้านเมืองให้ร่มเย็นเป็นสุข ตามความเชื่อที่สืบทอดกันมา

โดยมีนายธนวัฒน์ ยอดใจ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลแม่เหียะ เป็นประธานฝ่ายฆราวาส, พระครูสุนทร เจติยารักษ์ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยคำ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์

ในพิธีดังกล่าวได้มีการจัดพิธีบริเวณลานโล่งในป่า ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “ดง” โดยได้มีการจัดขบวนแห่ผ้าบฎ ซึ่งเป็นผ้ารูปภาพของพระพุทธเจ้าปางห้ามญาติ อายุเก่าแก่ประมาณ 100 ปี เข้ามาที่ดงเพื่อเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า จากนั้นจะได้มีการนำเอาควายดำ ตัวผู้ ที่มีลักษณะเขายาวเท่าหู นำมาเชือดเพื่อเป็นเครื่องเซ่นไหว้บวงสรวงปู่แสะ ย่าแสะ โดยจะมีผู้เฒ่าผู้แก่เชิญวิญญาณผีปู่แสะย่าแสะ และเหล่าลูกๆ อีก 32 ตน มาเข้าร่างทรง เพื่อให้มารับสิ่งของเครื่องเซ่นที่เตรียมไว้ในพิธี


จากนั้นคนทรงจะเข้ามากินเนื้อควายดิบๆ เลือดสดๆ โดยประเพณีโบราณไม่กี่ชนิดที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในขณะนี้ ซึ่งตามความเชื่อจัดพิธีดังกล่าวจะก่อให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข ป่าไม้อุดมสมบูรณ์ ฝนตกต้องตามฤดูกาล และประชาชนไม่เจ็บไข้ได้ป่วยทำการเกษตรได้ผลดีตลอดปี ในขณะเดียวกัน ป่าต้นน้ำก็ยังคงอยู่ และสำหรับผู้บุกรุกก็มักมีอันเป็นไปด้วยอิทธิฤทธิ์ของดวงวิญญาณปู่แสะ-ย่าแสะ โดยพิธีนี้ถือสืบทอดปฏิบัติมากว่า 200 ปี จนถึงปัจจุบัน

หลังจากได้กินเครื่องเซ่นแล้ว ปู่แสะ-ย่าแสะในร่างทรงได้ให้พรแก่ลูกหลาน ตลอดจนชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณโดยรอบ และนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติที่สนใจประเพณีเลี้ยงดงมาร่วมพิธีกันอย่างคับคั่งกว่า 3 พันคน ก่อนเข้ากราบไหว้พระบฏ ผืนผ้าที่มีรูปพระพุทธเจ้า

นายเทิดศักดิ์ มูลเขียว วัย 47 ปี ร่างทรงชาว ต.แม่เหียะ อ.เมืองเชียงใหม่ เปิดเผยว่า เรื่องเป็นร่างทรงเป็นความเชื่อส่วนบุคคลที่ต้องใช้วิจารณญาณในการรับรู้ด้วย ส่วนในการประทับร่าง หรือปู่แสะ-ย่าแสะเข้าร่างนั้น ตนก็จะไม่ค่อยรู้สึกตัว จะกลายเป็นคนละคน เหมือนเป็นคนที่มีพลังมากขึ้น

นายเทิดศักดิ์บอกว่า เป็นร่างทรงในพิธีมาแล้วประมาณ 5-6 ปี เคยมีเมื่อปีก่อน ตนตั้งใจว่าจะไม่เป็นร่างทรงให้ท่านประทับ โดยจะให้ลูกศิษย์ลงแทน ปรากฏว่าตนกลับมีอาการนิ้วชา เท้าชา เจ็บปวดทั่วตัวไปหมด จึงเชื่อว่าท่านไม่ยอม อย่างไรก็ตาม ที่ตนเข้ามาเป็นร่างทรงนั้นท่านเป็นผู้เลือก ตนก็พร้อมจะทำให้ท่านอย่างเต็มที่ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต และชาวบ้านชาวเมืองแม่เหียะด้วย



สำหรับประเพณีเลี้ยงดงถือเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน ตามความเชื่อที่ว่าเมื่อครั้งพุทธกาลมีเมืองชื่อ บุพนคร เป็นเมืองชนเผ่า ลัวะ ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำปิงและดอยอ้อยช้าง ประชาชนอยู่กันอย่างไม่เป็นสุขเนื่องจากถูกยักษ์สามตน พ่อ แม่ ลูก จับกินต้องอพยพหนีออกจากเมือง โดยในวันต่อมาพระพุทธเจ้าก็เสด็จพร้อมสาวกมาที่ดอยใต้ และได้ให้พระอานนท์ไปตามยักษ์ทั้งสามตนมาพบและทรงแสดงอภินิหารให้ยักษ์ทั้งสามตนได้เห็น เมื่อยักษ์เห็นเช่นนั้นก็เกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพระองค์ และพระองค์ได้ทรงแสดงธรรมให้ฟังและให้ยักษ์ทั้งสามตนถือศีลห้า ซึ่งรวมห้ามฆ่าสัตว์ด้วย แต่ยักษ์ขอพระพุทธเจ้าว่าตนเป็นยักษ์ไม่กินเนื้อสัตว์ก็ไม่รู้จะกินอะไรพระพุทธองค์ทรงไม่อนุญาต

ดังนั้นยักษ์จึงไปขอเจ้าเมืองบุพนคร เจ้าเมืองลัวะตกลงให้กินปีละตัว โดยยักษ์ปู่ขอกินควายเผือกเขาดำ ยักษ์ย่าขอกินควายดำกลีบเผิ้ง (ต้องเป็นควายหนุ่มตัวผู้มีเขาเสมอหู) แต่เจ้าเมืองมีข้อแม้ว่ายักษ์ต้องรักษาพระพุทธศาสนาไปห้าพันปี และรักษาบ้านเมืองให้อยู่เย็นเป็นสุขตลอดไปด้วย ส่วนยักษ์ลูกได้บวชเป็นพระและลาสิกขาออกมาเป็นฤาษีนามว่า "สุเทพฤาษี" ซึ่งเป็นที่มาของชื่อดอยสุเทพนั่นเอง เมื่อสิ้นยักษ์ปู่ และยักษ์ย่าไปแล้วชาวบ้านยังเกรงกลัวยักษ์อยู่จึงยังคงทำพิธีเซ่นสรวงดวงวิญญาณ ที่เรียกว่า "พิธีเลี้ยงดง" จนมาถึงปัจจุบัน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในงานประเพณีเลี้ยงดงปีนี้ กลุ่มต่อต้านหมู่บ้านป่าแหว่งบางส่วนได้มารอพบปู่แสะ-ย่าแสะ และขอให้ร่วมปกป้องผืนป่าดอยสุเทพทั้งหมดด้วย




กำลังโหลดความคิดเห็น