xs
xsm
sm
md
lg

เห็นทางรำไร ปมที่ป่าทับ ส.ป.ก.แพร่ กรุยทางชาวปางมะโอตัดสักสวนป่าขาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แพร่ - ผู้ตรวจการแผ่นดิน เร่งสางปัญหาชาวปางมะโอ ปลูกสวนป่าตามนโยบายป่าไม้ สุดท้ายถูกขีดเส้นที่ป่าทับที่ ส.ป.ก.- ตัดไม้ขายไม่ได้กว่าพันไร่ กรุยทางให้ชาวบ้านตัดสักส่วนป่าเศรษฐกิจ


นายสงัด ปัถวี รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน, นายวทัญญู ทิพยมณฑา ผู้อำนวยการสำนักสอบสวน 1, นายรัตติ สุทธวราภาส เจ้าหน้าที่สอบสวนอาวุโส สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้เข้าตรวจสอบข้อร้องเรียนของชาวบ้านปางมะโอ หมู่ที่ 12 ต.แม่พุง อ.วังชิ้น จ.แพร่ เมื่อเร็วๆ นี้ ที่วัดปางมะโอ

เบื้องต้นพบว่า ปัญหาที่ชาวบ้านปางมะโอ เรียกร้องให้แก้ปัญหาการปลูกสวนป่าไม้สักเชิงเศรษฐกิจตามแนวทางส่งเสริมของทางราชการแล้ว ไม่สามารถตัดไม้ได้ เนื่องจากในปี 2554 มีการกำหนดแนวเขตป่าสงวนใหม่ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ขีดเส้นกำหนดแนวเขตป่าสงวนฯ ทับซ้อนพื้นที่ทำกินเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01

ซึ่งหลัง นายพงษ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาแก้ปัญหา มี นายธีระ เงินวิลัย ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดแพร่ เป็นหัวหน้าคณะฯ ทำให้ได้รับทราบจุดที่มีประชาชนร้องเรียนว่า มีทั้งสิ้น 133 ราย 1,200 ไร่ อยู่ในเขตป่าไม้โซน E

ส่วนพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมที่ได้กันออก เพื่อประกาศเป็นพื้นที่ ส.ป.ก. 4-01 ตามนโยบายของรัฐรวม 11,000 ไร่ ในจำนวนนี้มีการตรวจสอบแล้ว สามารถเข้ารังวัดเป็นพื้นที่ ส.ป.ก. 4-01 ได้เพียง 2,000 ไร่เท่านั้น และพื้นที่ครอบครองนอกเขต ส.ป.ก. 4-01 คณะทำงานฯจะเสนอใช้คำสั่ง คสช. ที่ 66/57 ให้ชาวบ้านครอบครองตามโครงการจัดการที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) เป็นพื้นที่ที่อยู่ในความควบคุมของกรมป่าไม้ แต่สามารถทำกินได้ต่อไปภายใต้การรับรองของผู้ใหญ่บ้าน และพื้นที่ป่าโซนอนุรักษ์ต้นน้ำลำธาร โซน A โซน B ไม่สามารถอนุญาตให้ชาวบ้านครอบครองได้

อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านยังไม่พอใจในประเด็นการถือครองที่ดิน คทช. ที่ทางราชการจะกำหนดให้ แต่ต้องการให้ทางราชการออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 เพื่อให้ชาวบ้านได้รับสิทธิ์เท่าเทียมกัน

ขณะที่ตัวแทนชาวบ้านใน อ.สูงเม่น, อ.เด่นชัย ได้ยื่นหนังสือให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน เร่งรัดแก้ไขพื้นที่เขตปกครองทับซ้อนให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ด้านตัวแทนชาว ต.นาพูน อ.วังชิ้น ร้องเรียนว่า องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.แพร่) ปลูกไม้สักลุกล้ำเข้าที่ทำกินและที่ดินสาธารณะของหมู่บ้านทำให้ป่าไม้สักมีปัญหากับการเพาะปลูกเกษตรกรรมในชุมชน

นายสงัด ปัถวี รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญใหม่ เมื่อได้รับเรื่องร้องเรียนของชาวบ้านแล้ว จะต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลา 120 วัน ซึ่งถ้ายังไม่เสร็จต้องมีเหตุผลเพียงพอ สามารถขยายเวลาได้อีก 60 วัน ถ้ายังไม่สามารถแก้ไขให้แล้วเสร็จถือว่าไม่มีความตั้งใจในการทำ ให้ส่งเรื่องให้กับคณะกรรมการ ป.ป.ช. ฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่

กรณีของบ้านปางมะโอ เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายจะต้องมาช่วยกันเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด บางอย่างอาจต้องแก้กฎหมาย แก้กฤษฎีกา ถ้าจำเป็นก็ต้องดำเนินการ ซึ่งทางผู้ตรวจการแผ่นดินที่ผ่านมาไม่มีอำนาจในการจัดการ แต่ในครั้งนี้ต้องการให้เกิดการมีส่วนร่วมในการทำงานร่วมกันมากกว่า

และโอกาสนี้ คณะเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจการแผ่นดินฯ ได้ลงดูพื้นที่ชุมชนเก่า, เอกสารสิทธิใบจองของกรมที่ดิน และที่ดินที่มีโฉนดในเขตป่า ซึ่งพบว่าเป็นชุมชนโบราณของบ้านปางมะโอด้วย

แต่ ณ ขณะนี้ยังหาข้อยุติไม่ได้ในเรื่องการถือครองที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยทางราชการให้ชาวบ้านอยู่ทำกินได้โดยไม่มีการรับรองใด เพียงแต่รับรองว่าไม่มีใครมาไล่อีกต่อไป และสามารถตัดไม้สักในส่วนป่าเศรษฐกิจที่ปลูกไว้จำหน่ายได้เท่านั้น



กำลังโหลดความคิดเห็น