xs
xsm
sm
md
lg

ชลบุรีเดินหน้าแก้ปัญหาการขนส่งอย่างยั่งยืนรับอีอีซี-การขยายเมือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวศรีราชา - จ.ชลบุรี เดินหน้าแก้ไขปัญหาการขนส่งอย่างยั่งยืน ภายใต้แผนพัฒนาภาคตะวันออกและแนวทางการศึกษา รองรับการขยายตัวของเมืองและการลงทุน จากการเกิดขึ้นของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี และอีกหลายโครงการใหญ่ของรัฐบาล โดยมอบหมายให้วิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ ม.บูรพา ทำการศึกษาความต้องการที่แท้จริงของประชาชนในหัวเมืองใหญ่ 6 แห่ง



 
วันนี้ (15 พ.ค.) วิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ได้จัดให้มีการสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 ตามโครงการศึกษาเพื่อกำหนดแนวทางและแผนปฏิบัติการ เพื่อแก้ไขและควบคุมปัญหาการขนส่งอย่างยั่งยืน ภายใต้แผนพัฒนาภาคตะวันออก และแนวทางการศึกษาเพื่อรองรับการขยายตัวของเมือง การลงทุน และการเกิดขึ้นของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ซึ่งการสัมมนาดังกล่าวจัดขึ้นที่อาคารประชุมสัมมนาอเนกประสงค์ ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์กองทัพไทย เฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา จ.ชลบุรี โดยมี พล.ต.ทัศไนย ประทุมทอง ผอ.รมน.จ.ชลบุรี เป็นประธานเปิดงาน และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาชนในพื้นที่เมืองแสนสุข จ.ชลบุรี เข้าร่วม
 
ผู้ช่วยศาสตาจารย์ ดร.สุรเมศวร์ พิริยะวัฒน์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ในฐานะผู้จัดการโครงการ เผยว่า โครงการดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องจากการที่ สำนักงานจังหวัดชลบุรี มีนโยบายในการแก้ไขปัญหาจราจร จึงมอบหมายให้วิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ ม.บูรพา เป็นผู้ดำเนินการ เนื่องจากเห็นความสำคัญของความคิดเห็นในภาคประชาชน และประชาสังคมในการกำหนดแผนปฏิบัติการควบคุมการขนส่งอย่างยั่งยืน ประกอบกับ จ.ชลบุรี เป็นจังหวัดใหญ่ที่มีการเจริญเติบโต ทั้งในเรื่องประชาชนที่มาทำงานในภาคอุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว

ขณะที่นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของภาครัฐที่มุ่งมายังภาคตะวันออก และ จ.ชลบุรี มีทั้งโครงการ อีอีซี รถไฟความเร็วสูง การขยายท่าเรือ และการยกระดับสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งการขยายตัวในลักษณะดังกล่าวย่อมส่งผลต่อการพัฒนาระบบเมือง และระบบขนส่งที่จะตามมาในอนาคต
 
“ด้วยเหตุนี้เราจึงวางแผนรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้นไว้ก่อน และจากการศึกษาพบว่า ปัญหาเรื่องการขนส่งของ จ.ชลบุรี มาจากเรื่องของการเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่ จึงทำให้มีปัญหาเรื่องความสามารถในการเชื่อมโยงระบบขนส่งเข้ากับแหล่งกิจกรรม รวมทั้งการเชื่อมโยงการขนส่งในระบบหลัก และระบบรองที่มีขีดความสามารถลดลง ซึ่งโครงการของเราไม่ได้มองแค่เรื่องของระบบขนส่งที่แยกออกมา แต่จะมองระบบขนส่ง ร่วมกับระบบเมือง และเมื่อผนวกกับนโยบายของรัฐบาล ตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 12 และปรัญชาเศรษฐกิจพอเพียง ของในหลวง ร.๙ รวมทั้งชุมชนน่าอยู่ จะทำให้โครงการสามารถตอบโจทย์ประชาคมได้อย่างสมบูรณ์”

ผู้ช่วยศาสตาจารย์ ดร.สุรเมศวร์ กล่าวอีกว่า ปัจจัยที่ทำให้ความสามารถในการเชื่อมโยงระบบการขนส่งที่ลดลงมาจากแผนงาน และภาคปฏิบัติที่จะต้องสอดรับกัน แต่ส่วนใหญ่การดำเนินงานนโยบายของรัฐมักไม่ประสบผลสำเร็จ 100% เพราะขาดความเชื่อมโยงระหว่างชุมชนที่จะมาเจอกันตรงกลาง ซึ่งคณะทำงานจะต้องลงพื้นที่เพื่อศึกษาความต้องการและปัญหาของประชาชนใน 6 เมืองใหญ่ของ จ.ชลบุรี ประกอบด้วย อ.เมือง ศรีราชา พานทอง พนัสนิคม บางละมุง และ อ.สัตหีบ รวมทั้งทำประชาพิจารณ์ 2 ครั้ง และปัจฉิมนิเทศโครงการอีกครั้ง เพื่อให้ได้รับทราบปัญหาของประชาชนในชุมชนต่างๆ อย่างแท้จริง

“ถ้าเป็นไปได้หากจะต้องมีโครงการที่เกี่ยวกับการปรับปรุง หรือก่อสร้างเราจะพิจารณาในเขตทางเดิม หรือหากจะต้องตัดทางใหม่ก็จะต้องเป็นในส่วนการบริหารจัดการพื้นที่ของท้องถิ่นที่ไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในเรื่องของการเวนคืนที่ดิน ซึ่งการลงพื้นที่ที่เราจะลงไปพูดคุยกับชาวบ้าน เพราะเราอยากรู้ปัญหาที่แท้จริง เนื่องจากใน 6 เมืองหลักที่เลือกล้วนเป็นเมืองที่เป็นแนวหน้าของ จ.ชลบุรี ที่มีบุคลิกที่แตกต่างกัน โดยผลรับที่ได้จากโครงการนี้จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ทั้งในแผนแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้น ที่ท้องถิ่นสามารถนำไปใช้ได้เลยในปีงบประมาณหน้า รวมทั้งแผนในระยะกลาง และระยะยาวที่จะต้องสอดรับต่อโครงการอีอีซี และอีกหลายโครงการใหญ่ของรัฐบาล ภายใต้แผนพัฒนาภาคตะวันออกอย่างยั่งยืน”

สำหรับ จ.ชลบุรี ต้องการแผนปฏิบัติการที่สามารถแก้ปัญหาในเรื่องการขนส่ง และระบบเมืองได้ในทันที เพราะการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการเข้ามาของแรงงานต่างถิ่นเป็นการเพิ่มความต้องการในการเดินทาง ซึ่งหากโครงการศึกษาดังกล่าวแล้วเสร็จในเดือน พ.ย.2561 ก็จะทำให้แต่ละอำเภอมีแผนงานที่จะสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องการขนส่งในพื้นที่ได้ในระยะสั้น ส่วนระยะกลาง และระยะยาวจะต้องเป็นแผนที่สอดคล้องต่อนโยบายของประเทศ ภายใต้ความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง




 







กำลังโหลดความคิดเห็น