ศูนย์ข่าวศรีราชา- บริษัทฯ รับกำจัดขยะบนเรือสินค้ากลางทะเลศรีราชา หวั่นปัญหาลอบทิ้งขยะกลางทะเลของเรือสินค้าจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล เผยรับกำจัดขยะอย่างถูกต้องมานาน 5 เดือน มีเรือสินค้าแจ้งใช้บริการเพียง 20 ลำ จากจำนวนเรือที่มีทั้งหมดกว่า 1,000 ลำ ข้องใจแล้วเรือเหล่านั้่นทิ้งขยะที่ไหน ?
จากกรณีที่คณะกรรมาธิการการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้เดินทางลงพื้นที่เกาะสีชัง จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการขนถ่ายสินค้าบริเวณเกาะสีชัง และปัญหาขยะจากเรือสินค้านั้น
วันนี้ (10 พ.ค.) นางวรกมล พฤกษากูร กรรมการบริษัท เจ.พี ซีลิฟท์ จำกัด ได้ออกมาเปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า หลังจากที่บริษัทได้รับอนุญาตจากกรมเจ้าท่า ให้รับกำจัดขยะบนเรือสินค้าที่ผ่านเข้าออก และทอดสมอบริเวณอ่าวศรีราชา และเกาะสีชังมานานกว่า 5 เดือน พบว่า มีเรือสินค้าเข้าใช้บริการเพียง 20 ลำเท่านั้น ทั้งที่ในความเป็นจริงมีเรือผ่านเข้าออกมากกว่า 1,000 ลำ จนทำให้เกิดข้อสงสัยว่า เรือสินค้าเหล่านั้นนำขยะทิ้งที่ใด หากไม่มีการลักลอบทิ้งลงสู่ทะเล
ทั้งนี้ เพราะเรือสินค้าทุกลำที่เข้ามาในน่านน้ำไทย ทั้งบริเวณอ่าวศรีราชา และเกาะสีชังจะต้องมีขยะที่ใช้บนเรือ รวมทั้งขยะมีพิษ ที่สำคัญเรือขนถ่ายสินค้าต่างๆ เช่น มันสำปะหลังและน้ำตาล เมื่อขนถ่ายสินค้าแล้วเสร็จจะมีเศษสินค้าหลงเหลืออยู่บนเรือ ซึ่งจะต้องมีการกำจัดก่อนจะเดินทางออกนอกประเทศ แต่ที่ผ่านมา ก็ไม่มีเรือลำใดแจ้ง หรือส่งเศษสินค้ามากำจัดกับบริษัท เจ.พี ซีลิฟท์ จำกัด
“เพราะประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายบังคับเรือสินค้าจากต่างประเทศให้เสียค่ากำจัดขยะ เรือสินค้าต่างๆ ไม่ให้ความสำคัญเรื่องการกำจัยขยะ จึงอาจทิ้งขยะที่มีลงทะเล หรือว่าจ้างเรือที่ผิดกฎหมายไปกำจัดแทน จึงไม่ทราบนำไปกำจัดในรูปแบบใด แต่ในต่างประเทศนั้นจะมีกฎหมายบังคับใช้อย่างเข้มงวด และจริงจัง ทำให้เรือทุกลำต้องแจ้งและเสียค่ากำจัดขยะทุกๆ ลำ”
นางวรกมล กล่าวต่อว่า บริษัทมีความตั้งใจที่จะดูแลปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในทะเลและชายฝั่ง จึงได้ยื่นขออนุญาตจากกรมเจ้าท่า ในการกำจัดขยะกลางทะเลจากเรือสินค้า ซึ่งกรมเจ้าท่า ได้อนุมัติเป็นที่เรียบร้อย แต่กฎหมายที่จะใช้บังคับให้เรือสินค้าต้องแจ้ง และเสียค่ากำจัดขยะกลับยังไม่มี ในวันนี้จึงขอฝากวอนไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบให้เร่งหามาตรการป้องกันและดูแลอย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล เนื่องจากพบว่า ปัจจุบันน้ำทะเลและชายฝั่งเริ่มมีปัญหาแล้ว
“ล่าสุด ทราบว่าปัญหาดังกล่าวหน่วยงานที่รับผิดชอบ และเกี่ยวข้องจะนำมาพูดคุยร่วมกันกันในวันที่ 18 พ.ค.นี้ เพื่อเร่งหามาตรการ และแนวทางในการป้องกันปัญหาและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อไป” นางวรกมล กล่าว