อ่างทอง - โบราณสถาน พระตำหนักคำหยาด ที่ปลีกวิเวกของ สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร กษัตริย์พระองค์ที่ 32 ของกรุงศรีอยุธยา หลังสละราชสมบัติให้พระเชษฐา ทรงเสด็จประทับที่พระตำหนักคำหยาด ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ผู้เป็นพระราชบิดาสร้างไว้เป็นที่ประทับแรมเมื่อครั้งเสด็จประพาสเมืองอ่างทอง
อนุสรณ์สถานปลีกวิเวกของ “ขุนหลวงหา” พระนามที่ชาวบ้านคำหยาดได้ขนานนามให้ สมเด็จพระบรมราชาธิราช ที่ 4 หรือเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในพระนาม “พระเจ้าอุทุมพร” กษัตริย์พระองค์ที่ 32 ของกรุงศรีอยุธยา ยังคงเหลือให้เห็น อยู่จนถึงทุกวันนี้ มีชื่อว่า “พระตำหนักคำหยาด” อยู่กับใกล้วัดคำหยาด ในอำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง
พระเจ้าอุทุมพรเป็นราชโอรสในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ตอนที่พระราชชนนีทรงครรภ์นั้น พระราชบิดาทรงพระสุบินว่ามีผู้ถวายดอกมะเดื่อให้ จึงพระราชทานพระนามว่า เจ้าฟ้าอุทุมพรราชกุมาร แต่เรียกกันทั่วไปว่า “เจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ”
เมื่อตำแหน่งรัชทายาทว่างลง เนื่องจาก “เจ้าฟ้ากุ้ง” หรือ “เจ้าฟ้าธรรมธิเบศ ราชโอรสองค์โตต้องพระราชอาญาถึงสิ้นพระชนม์ ขุนนางข้าราชการทูลขอให้ทรงสถาปนาเจ้าฟ้าอุทุมพร กรมขุนพรพินิตขึ้นเป็นรัชทายาทแทน แต่เจ้าฟ้าอุทุมพรกลับขอให้สถาปนาพระเชษฐา กรมหลวงอนุรักษ์มนตรี หรือ เจ้าฟ้าเอกทัศน์ ขึ้นเป็นรัชทายาท แต่พระราชบิดาไม่ทรงยินยอม
ในปี พ.ศ.2301 พระเจ้าอยู่หัวประชวรหนัก รับสั่งให้พระราชโอรสที่มีบทบาทสำคัญเข้าเฝ้า พร้อมตรัสมอบสมบัติให้เจ้าฟ้าอุทุมพร และให้คนอื่นๆถวายสัตย์ยอมเป็นข้าทูลละออง เจ้าฟ้าเอกทัศน์ทราบข่าวก็รีบลาผนวชกลับมาอยู่วัง รอขึ้นครองราชย์แทน ด้วยถือว่าพระองค์เป็นพระราชโอรสที่อาวุโสที่สุด
เมื่อพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศสวรรคต ขุนนางข้าราชการก็อัญเชิญเจ้าฟ้าอุทุมพรขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติตามพระบรมราชโองการ แต่เจ้าฟ้าเอกทัศน์กลับเสด็จขึ้นประทับบนพระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์ ซึ่งเป็นที่ประทับของกษัตริย์
เจ้าฟ้าอุทุมพรเห็นว่าพระเชษฐาอยากครองราชย์ เลยสละราชสมบัติให้หลังจากครองราชย์ได้เพียง 10 วัน แล้วเสด็จออกผนวชที่วัดประดู่ เจ้าฟ้าเอกทัศน์ขึ้นครองราชย์เป็น สมเด็จพระบรมราชาที่ 3 หรือ พระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์ แต่รู้จักกันทั่วไปในนาม พระเจ้าเอกทัศน์ หรือ “ขุนหลวงขี้เรื้อน” กษัตริย์องค์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยาที่เสียเมืองแก่พม่า
เมื่อเสร็จศึกพม่า พระเจ้าเอกทัศน์ก็แสดงความไม่ไว้วางพระทัย ต่อ พระเจ้าอุทุมพร จึงเสด็จลงเรือพระที่นั่งไปทรงผนวชที่วัดโพธิ์ทองคำหยาด และไปประทับที่พระตำหนักคำหยาด ที่สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประทับระยะหนึ่งก่อนที่พระองค์จะเสด็จกลับวัดประดู่ทรงธรรม พระตำหนักคำหยาด อยู่ถัดจากวัดโพธิ์ทอง ไปทางทิศตะวันตก ประมาณ 2.5 กิโลเมตร
พระตำหนักก่อด้วยอิฐ ยกพื้นสูง มีใต้ถุนและเจาะช่องใต้ถุน เป็นรูปประตูโค้งแหลมตามแบบที่นิยมมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีมุขย่อกระเปาะด้านหน้าทางทิศตะวันออก เครื่องบนไม่มีเหลือ คงปรากฏเพียงผนังตึก
ปัจจุบันนี้พระตำหนักแห่งนี้ ทางกรมศิลปากรได้บูรณะและขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ตั้งโดดเด่นอยู่กลางทุ่งนา ก่อด้วยอิฐถือปูนขนาดกว้าง 10 เมตร ยาว 20 เมตร ยังหลงเหลือเค้าความงดงามทางด้านศิลปกรรม เช่น ลวดลายประดับซุ้มจรนำหน้าต่าง มีมุขเด็จด้านหน้าและด้านหลัง ภายในทาดินแดงปูพื้นกระดาน ร่องรอยของโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมฉาบฉายให้เห็นถึงเรื่องราวและความทรงจำในสมัยอดีตได้อย่างน่าสนใจ
โดยนายวรเชษฐ เศวตรพนิต ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดอ่างทอง กล่าวว่า พระตำหนักคำหยาด มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ไทย โดย สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ทรงเสด็จมาผนวชที่วัดโพธิ์ทอง ซึ่งพระองค์ท่านเล็งเห็นว่าเป็นที่เหมาะสม ในการจำวัดและปลีกวิเวก ซึ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีข่าวถึงการแย่งชิงราชบัลลังก์ซึ่งสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ไม่ประสงค์เป็นผู้ครองนคร ได้ทรงมาผนวชที่วัดโพธิ์ทอง ใช้พระตำหนักคำหยาด เป็นที่ปลีกวิเวก ซึ่งพระตำหนักคำหยาดเป็นโบราณสถานประวัติศาสตร์แห่งเดียวของจังหวัดอ่างทอง
ปัจจุบัน “พระตำหนักคำหยาด” มีเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลคำหยาด เป็นผู้ดูแล ซึ่งมีผนังอิฐ 4 ด้าน ประตูและหน้าต่างมีลักษณะโค้งยอดแหลม เหมือนสถาปัตยกรรมสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่ได้รับอิทธิพลมาจากเปอร์เซีย กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ เป็นอนุสรณ์ให้นึกถึง “ขุนหลวงหาวัด”
ด้าน นางเก็บ แก้วมณี อายุ 83ปี และนางปริก เฟื้องฟู อายุ 84 ปี ชาวบ้านหมู่ 1 ตำบลคำหยาด ที่มีบ้านอยู่ติดกับพระตำหนักคำหยาด เล่าให้ฟังว่า ในสมัยที่เป็นวัยเด็ก ทุกคืนแม่จะปลุกให้ตื่นขึ้นมาฟังเสียงดนตรีปีพาทย์ ที่มีเสียดังขึ้นมาจากด้านในพระตำหนักทุกคืน ซึ่งปัจจุบันนี้ได้เงียบหายไปแล้ว และไม่ได้ยินนานแล้ว ซึ่งทุกวันนี้ เราทั้งสองคน หลังจากรับประทานอาหารกลางวันเสร็จแล้ว จะเดินถือเสื่อและหมอนพร้อมวิทยุทรานซิสเตอร์มานอนฟังที่บริเวณต้นไม้ใหญ่ด้านข้างพระตำหนักคำหยาดเป็นประจำทุกวัน เนื่องจากมีลมพัดเย็นสบาย และสบายใจแบบมีความสุขเหมือนได้อยู่ใกล้ๆกับสิ่งที่เราเคารพและบูชาอยู่ในหัวใจ
สุดท้าย...พระตำหนักคำหยาด ถึงจะเป็นพระตำหนักเล็กๆ แต่ก็เป็นพระตำหนักที่เต็มไปด้วยความสวยงามของร่องรอยแห่งประวัติศาสตร์อีกแห่งหนึ่งของชาติไทย หากทุคน เห็นคุณค่าและให้ความสำคัญ พระตำหนักแห่งนี้จะได้ไม่เงียบเหงาและจะได้ไม่เป็นพระตำหนักเล็กๆที่ถูกลืม....