xs
xsm
sm
md
lg

ร่วมค้นหาความจริง?! ชุมชนทวาราวดี คาดอายุกว่าพันปี หลังพบร่องรอยของวัตถุโบราณ(ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อ่างทอง - กลุ่มสืบสานศิลปะอ่างทอง วอนหน่วยงานรัฐให้ความสำคัญ ร่วม พิสูจน์ความจริงชุมชนทวาราวดีในอดีต หลังพบหลักฐาน ภาพถ่ายทางอากาศ คล้ายเป็นที่ตั้งของชุมชนทวาราวดี พร้อมพบวัตถุโบราณตามชั้นดิน เชื่อเป็นชุมชนขนาดใหญ่อายุนับพันปี



นายบัญชา กล่อมเกลี้ยง อายุ 37 ปี ประธานกลุ่มสืบสานศิลปะอ่างทอง เล่าว่า ที่บริเวณหมู่ 2- 3 ตำบลทางพระ อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง เชื่อว่าเป็น ชุมชนทวาราวดีในอดีต โดย มีข้อสันนิษฐานมาจาก คูน้ำลำคลองในพื้นที่หมู่ 2 และพื้นที่หมู่ 3 ตำบลทางพระ ที่มีความเชื่อมโยง ล้อมรอบพื้นที่หมู่บ้านคล้ายเกาะกลางน้ำ ซึงจากการศึกษาชุมชนทาราวดีในอดีตนั้น จะมีแม่น้ำรอบชุมชนเป็นวงกลม ซึ่งปัจจุบันนี้พื้นที่ลำคลองในหมู่บ้านยังคงสภาพไว้แต่มีบางเส้นทางตื้นเขิน และในช่วงที่ชาวบ้านได้ทำการปรับพื้นเป็นทุ่งนา และในบริเวณชุมชนยังได้ขุดพบ พระพิมพ์ที่เป็นเอกลักษณ์ในท้องถิ่น

โดยเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมานั้นได้การขุดพื้นที่ดินก่อสร้างประปาหมู่บ้านที่บริเวณหมู่ ที่ 3 ตำบลทางพระ ยังได้ พบโบราณวัตถุแตกหักในหลายระดับชั้นดิน มีเศียรพระพุทธรูป พระร่วงตีนเป็ด กรุวัดสะมะดัน หรือวัดตาเงิน ลูกปัดหินโบราณ ชิ้นส่วนภาชนะดินเผา เศษกระดูกสัตว์ ทำให้เกิดความความน่าจะเป็น ชุมชนขนาดใหญ่อายุนับพันปี จากสภาพพื้นที่และโบราณวัตถุที่พบเห็นมักจะกำหนดยุคสมัยได้ หากมีการสำรวจอย่างเป็นแบบแผนจากผู้เชี่ยวชาญอาจระบุยุคสมัยได้ข้อมูลใหม่ในด้านประวัติศาสตร์จังหวัดอ่างทองได้ซึ่งจะเป็นหลักฐานสำคัญ

นายสันติชัย เกษมสุข ครูโรงเรียนวัดทางพระ เล่าเสริม ว่า จากการที่ติดตามกลุ่มสืบสานฯ ได้ ศึกษาค้นคว้า และเก็บรวบรวมข้อมูลวัตถุโบราณ ตลอดจนหลักฐานชั้นดิน ที่มีชิ้นส่วนวัตถุโบราณหลายยุคสมัยตามชั้นของดิน เชื่อได้ว่าพื้นทีบริเวณหมู่ที่ 2 และหมู่ ที่ 3 ตำบนทางพระน่าจะเป็นแหล่งที่ตั้งของชุมชนในอดีตที่มีความเก่าแก่นับพันปี ในฐานะครูที่สอนอยู่ในพื้นที่ก็อยากให้ทางกรมศิลปากร หรือผู้ที่มีความรู้ในด้านนี้โดยตรงเข้ามาสำรวจ เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาศิลปะและวัฒนธรรมในท้องถิ่นเป็นแหล่งศึกษาข้อมูลประวัติศาสตร์แหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดอ่างทองได้

นายแสนภู แตรสังข์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ตำบลทางพระ กล่าวว่า หลังเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ได้มีการขุดพบกับวัตถุโบราณเป็นเศียรพระพุทธรูปเก่าอายุกว่าร้อยปี และพระพุทธหน้าตักขนาด 2 นิ้ว จำนวนมาก มีชาวบ้าน ได้เก็บบูชา และมีการเก็บเศียรพระพุทธรูปขนาดใหญ่อายุหลายร้อยปี ไว้ที่บริเวณหน้าโบสถ์วัดทางพระส่วน เศษภาชนะ เครื่องลายคราม และเศษกระดูกสัตว์ ยังคงอยู่ที่ วัดคลองสะมะดัน หรือวัดตาเงิน ซึ่งตนเองมีพื้นที่อยู่บริเวณใกล้เคียงที่ขุดพบเศียรพระ ตนเองยินที่จะให้ทางราชการทำการขุดเจาะ พื้นที่ดินของตนเองเพื่อที่จะทำการค้นคว้าเชื่อเป็นชุมชนขนาดใหญ่อายุนับพันปี ยินดีให้ขุดที่พิสูจน์ศึกษาหาความจริง

นอกจากนี้ในอำเภอโพธิ์ ยังมีโบราณสถานที่สำคัญทางประวัติ แต่ปัจจุบันได้ถูกปล่อยทิ้งร้างไม่ได้รับการเหลียวแล คือ "พระตำหนักคำหยาด" ของ "สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร" พระตำหนักที่กำลังจะถูกลืม

หลายคนไม่เคยรู้จัก หรือเคยได้ยินชื่อ พระตำหนักคำหยาดมาก่อน พระตำหนักเก่าแก่แห่งนี้ เป็นพระตำหนักที่ขุนหลวงหาวัด (เจ้าฟ้าอุทุมพร กรมขุนพรพินิต) ทรงผนวชที่วัดโพธิ์ทอง แล้วสร้างพระตำหนักคำหยาดแห่งนี้ขึ้นมาเพื่อจำพรรษา แม้แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสลำน้ำมะขามเฒ่า เมื่อปี พ.ศ.2450 ได้เสด็จมายังโบราณสถานแห่งนี้

แต่พระตำหนักแห่งนี้กำลังถูกลืมจากผู้คนไทยและชาวจังหวัดอ่างทอง หลังไม่มีหน่วยงานใดเหลียวแลจนเป็นที่อยู่อาศัยของนกพิราบ ประกอบกับพระตำหนักคำหยาดอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ไม่มีแม้แต่ป้ายบอกเส้นทาง จนประชาชนใกล้เคียงพระตำหนักคำหยาดต่างวิตกกังวลว่าจะไม่เหลือพระตำหนักแห่งเดียวของจังหวัดอ่างทองให้ลูกหลานได้ศึกษาเรียนรู้

พระตำหนักคำหยาด ปัจจุบันเป็นโบราณสถาน ตั้งอยู่ในเขตวัดร้างชื่อว่า วัดโพธิ์ทอง ตำบลคำหยาด อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง พระตำหนักคำหยาดเป็นพระตำหนักของสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร หรือ ขุนหลวงหาวัด พระมหากษัตริย์องค์ที่ 32 (บางแห่งนับว่าเป็นพระองค์ที่ 33) ราชวงศ์บ้านพลูหลวงแห่งกรุงศรีอยุธยา พระตำหนักหลังนี้เป็นพระตำหนักที่สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประทับระยะหนึ่งก่อนที่พระองค์จะเสด็จกลับวัดประดู่ทรงธรรมอยู่ถัดจากวัดโพธิ์ทอง ไปทางทิศตะวันตก ก่อด้วยอิฐ ยกพื้นสูง มีใต้ถุนและเจาะช่องใต้ถุน เป็นรูปประตูโค้งแหลมตามแบบที่นิยมมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช


กำลังโหลดความคิดเห็น