xs
xsm
sm
md
lg

“เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์” ทรงติดตามความคืบหน้าพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ฯ ณ วัดป่าบ้านตาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อุดรธานี - สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี องค์ประธานการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตาพระมหาบัวญาณสัมปันโน) เสด็จพร้อมด้วยพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ องค์ประธานคณะผู้ออกแบบโครงการฯ ไปทรงติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ฯ ณ วัดเกษรศีลคุณ (วัดป่าบ้านตาด) อ.เมืองอุดรธานี

เมื่อเวลา 17.50 น. วันที่ 21 เม.ย. 61 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารี องค์ประธานโครงการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์พระธรรมวิสุทธิมงคล(หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน) เสด็จพร้อมด้วย พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ องค์ประธานคณะผู้ออกแบบโครงการพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์พระธรรมวิสุทธิมงคลฯ ไปทรงติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน) ณ วัดเกษรศีลคุณ (วัดป่าบ้านตาด) อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี

โอกาสนี้ ทรงวางพวงมาลัย และทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายสักการะอัฐิธาตุพระธรรมวิสุทธิมงคล พร้อมกันนั้น ทรงสนทนาธรรมกับพระอาจารย์สุดใจ ทันตมโน เจ้าอาวาสวัดเกสรศีลคุณ (วัดป่าบ้านตาด) และหลวงตาอินทร์ถวาย สันตุสสโกเจ้าอาวาสวัดป่านาคำน้อย ณ กุฏิพระธรรมวิสุทธิมงคล

จากนั้น เสด็จไปยังอาคารอเนกประสงค์ ด้านหน้าโครงการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์พระธรรมวิสุทธิมงคลหลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน

โดยมี นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กราบทูลถวายรายงานความคืบหน้าการดำเนินการต่างๆ จากเมื่อครั้งที่ทรงพระกรุณาเสด็จมาเป็นองค์ประธานในการวางศิลาฤกษ์โครงการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ฯ เมื่อวันที่30 มกราคม 2556 ซึ่งขณะนี้การดำเนินการมีความคืบหน้าไปตามลำดับ

ทั้งในส่วนการก่อสร้างพระเจดีย์พระวิหาร และ อาคารพิพิธภัณฑ์ โดยได้ดำเนินการตอกเสาเข็มตามแบบแปลน แผนผัง และหลักวิศวกรรมก่อสร้าง จำนวน 1,255 ต้น แล้วเสร็จไปเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2560 ซึ่งตรงกับวันที่หลวงตาพระมหาบัวญาณสัมปันโน ละสังขารครบ 6 ปี ในส่วนของอาคารพิพิธภัณฑ์ คาดว่า จะใช้เวลาการก่อสร้างประมาณ 12 เดือน สำหรับการออกแบบ - ตกแต่ง และการนำเสนอข้อมูลนิทรรศการด้านต่างๆ อยู่ระหว่างการออกแบบรายละเอียด

โดยการดำเนินการก่อสร้างเป็นไปตามวัตถุประสงค์ และแสดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อองค์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน พระสุปฏิปัณโณ ผู้ทรงคุณอันประเสริฐและมีคุณูปการต่อประเทศชาติและพระพุทธศาสนา

จากนั้น ทรงลงพระนามในแผ่นทองจารึกเพื่อบรรจุ ณ ฐานพระเจดีย์ ที่ระดับความสูง 8 เมตร จากองค์พระเจดีย์ที่มีความสูง 60 เมตร และเสด็จไปทอดพระเนตรแบบจำลองโครงการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน)

โครงการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ฯ นับเป็นศิลปกรรมไทยองค์สำคัญ องค์สุดท้ายในสมัยรัชกาลที่ 9 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่สร้างขึ้นบนพื้นที่ 181 ไร่ 3 งาน 17 ตารางวา เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานที่บรรจุอัฐิธาตุของหลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน พระเถระสายพระนักปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานชั้นผู้ใหญ่รูปหนึ่งของประเทศไทย ที่ครั้งหนึ่งมีบทบาทอย่างยิ่งในการใช้ธรรมะ ช่วยเหลือวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศเมื่อปี พ.ศ. 2540 ในรูปแบบดำเนินการทอดผ้าป่าทองคำและเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ภายใต้ชื่อ "โครงการผ้าป่าช่วยชาติ” เพื่อใช้เป็นทุนสำรองของประเทศไทยในขณะนั้น

นอกจากนี้ ยังเป็นสถานที่เผยแพร่ธรรมะ คำสอนพุทธศาสนาและเป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชน รวมถึงเป็นสถานที่เก็บรวบรวมประวัติหนังสือคำสอน และเครื่องอัฐบริขารของหลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน เพื่อเตือนใจให้เยาวชน หรือคนรุ่นหลัง ทั้งสงฆ์ และฆราวาสให้รำลึกถึงคุณูปการทั้งในทางโลกและทางธรรม ซึ่งถือเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติและทำความดี เพื่อพุทธศาสนาและประเทศชาติ

โดยได้รับพระกรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารี ทรงรับเป็นประธานโครงการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ฯ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์และทีมงานสยามรีโนเวทเป็นผู้ดำเนินการออกแบบก่อสร้างโดยไม่มีค่าใช้จ่ายในการออกแบบใดๆ ทั้งสิ้น และทรงมอบหมายให้จังหวัดอุดรธานี ร่วมกับ คณะศิษยานุศิษย์ ดำเนินการก่อสร้าง

สำหรับแนวทางการออกแบบ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ องค์ประธานคณะผู้ออกแบบโครงการได้ทรงกำหนดวางองค์พระเจดีย์เป็นศูนย์กลางของกลุ่มงานสถาปัตยกรรมทั้งหมดโดยให้แกนของพระเจดีย์มุ่งสู่ศูนย์กลาง คือ จิตกาธานองค์หลวงตาพระมหาบัวฯ และรักษาแนวแกนการก่อสร้างไปในทิศทางเดียวกับเมืองพาราณสี ในสาธารณรัฐอินเดีย เพื่อให้พุทธศาสนิกชนที่มากราบไว้พระเจดีย์องค์หลวงตาพระมหาบัวฯ ได้กราบจิตกาธานองค์หลวงตาพระมหาบัว พร้อมกับได้กราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ เมืองพาราณสี ในคราวเดียวกัน

ลักษณะของพระเจดีย์ พระวิหาร และพิพิธภัณฑ์นั้นได้สร้างสรรค์จากแรงบันดาลใจจากสถาปัตยกรรมศิลปะล้านช้าง ผสมผสานกับศิลปะยุคกรุงรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นถึงการสืบทอดพระพุทธศาสนาในถิ่นอีสานยังคงดำรงอย่างมั่นคง และเจริญรุ่งเรืองต่อไปในอนาคต

พระเจดีย์ พระวิหาร และพิพิธภัณฑ์พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน) ณ วัดเกษรศีลคุณ (วัดป่าบ้านตาด) ได้เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ เดือนมกราคม 2560 กำหนดจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ ในปี 2563


กำลังโหลดความคิดเห็น