xs
xsm
sm
md
lg

วิวัฒนาการทุเรียนไทยจากส่งขายตลาดภายใน สู่ยอดสั่งซื้อบนโลกออนไลน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ความโด่งดังของทุเรียนไทย โดยเฉพาะทุเรียนที่มาจากพื้นที่ 3 จังหวัดภาคตะวันออก ไม่ว่าจะเป็น จันทบุรี ระยอง และตราด ในวันนี้เห็นที่จะปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่เพียงแต่จะเป็นที่ชื่นชอบของกลุ่มผู้บริโภคในประเทศไทยเท่านั้น แต่กลุ่มผู้บริโภคชาวจีน และยุโรปในหลายประเทศยังกลายเป็นตลาดสำคัญในการส่งออกทุเรียนจากไทยไปยังต่างแดน ไม่นับรวมถึงการเข้ามาของกลุ่มอาลีบาบา ที่กำลังทำให้ยอดขายทุเรียนคุณภาพของไทย กำลังเติบโตไปไกลกว่าที่ชาวสวนทุเรียนในอดีตจะคาดคิด

โดยเฉพาะพันธุ์หมอนทอง พันธุ์ท้องถิ่น ชะนี พวงมณี ที่ในวันนี้เป็นที่ต้องการของตลาด จนรัฐบาลต้องมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ เร่งแผนพัฒนาผลไม้เกรดพรีเมียม อย่าง ทุเรียน เพื่อเพิ่มมูลค่า และผลักดันให้ราคาสูงขึ้น รวมทั้งยังเน้นการทำตลาดให้แก่ผลไม้เกรดรอง เช่น มังคุด และพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เช่น ลำไยทอดสุญญากาศ และการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ผลไม้ไทย รวมถึงจะพัฒนาช่องทางการจำหน่าย และการจัดหาสินเชื่อให้แก่เกษตรกร เพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศให้เพิ่มมากขึ้น

จ.ระยอง จัดอบรมการทำ QR Code ทุเรียนระยอง

เช่นเดียวกับที่ จ.ระยอง ซึ่งในวันนี้ได้จัดให้มีการอบรมเกี่ยวกับการทำ QR Code ทุเรียนระยอง ให้แก่ผู้ประกอบการ และเจ้าหน้าที่ ด้วยหวังว่าจะสามารถสร้างความมั่นใจต่อผู้บริโภคที่จะได้ทุเรียนคุณภาพ ที่สามารถตรวจสอบแหล่งผลิต และควบคุมไม้ให้เจ้าของสวนลอบตัดทุเรียนอ่อนหรือส่งทุเรียนที่มีหนอนเจาะเมล็ดออกขาย ที่สำคัญหากพบทุเรียนจากแหล่งใดมีปัญหา เจ้าของสวนต้องรับผิดชอบ

โดย นายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง บอกว่า หลังจากที่ จ.ระยอง ได้ยกระดับและพัฒนาคุณภาพผลไม้ด้วยการส่งเสริมให้เกษตรกรติดสติกเกอร์บริเวณขั้วทุเรียน เพื่อตรวจจับผู้จำหน่ายทุเรียนอ่อนด้วยเครื่องสแกนที่จะสามารถตรวจวัดเปอร์เซ็นต์แป้งในทุเรียนแต่ละลูกได้ในระยะเวลาเพียง 3-5 นาทีแล้ว เครื่องดังกล่าวยังชี้ได้ว่า ทุเรียนลูกใดมีปริมาณแป้งต่ำกว่า 32% ซึ่งถือเป็นทุเรียนอ่อน และยังได้จัดทำแอปพลิเคชัน ทุเรียนระยอง สร้างความเข้าใจในเรื่องคุณภาพของทุเรียนให้แก่ผู้บริโภคอีกด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น จ.ระยอง ยังดำเนินมาตรการทางการตลาดเชิงรุก ด้วยการจับมือกับภาคเอกชนอย่าง สวนสุภัทราแลนด์ จัดกิจกรรม “เที่ยวสวน ชวนปั่น แอทระยองฮิ” ชิมทุเรียนหมอนทองและผลไม้ที่สวนสุภัทราแลนด์ เพื่อสนับสนุนผลผลิตที่จะออกสู่ตลาดตลอดเดือน พ.ค.นี้อีกด้วย

ชาวสวนเมืองตราด รุกตลาดการขายผ่านระบบออนไลน์

ส่วนในพื้นที่ จ.ตราด นายสมทรง พ่วงกระสินธุ์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจทุเรียนแปลงใหญ่ ต.ชำราก อ.เมืองตราด บอกว่า ในปีนี้ทางกลุ่มฯ จะเพิ่มช่องทางการบริโภคทุเรียนโดยตรงจากสวนสู่ผู้บริโภค เพื่อให้ได้รับประทานทุเรียนคุณภาพที่เจ้าของสวนเลือกเองกับมือออกสู่ตลาด โดยจะมีทั้งทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ชะนี และพวงมณี เกรดซูเปอร์พรีเมียม พรีเมียม และธรรมดา

โดยจะเปิดตลาด “ซูเปอร์พรีเมียมทุเรียนชำราก” ด้วยการเน้นขายลูกค้าในระบบออนไลน์ ที่ลูกค้าสามารถสั่งซื้อ และสั่งจองผ่านทางเพจของกลุ่มฯ ที่สามารถจัดส่งทุเรียนผ่านทางบริษัทขนส่งทั่วประเทศ ภายใต้จุดประสงค์สำคัญคือ การเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคได้กินทุเรียนอร่อยจากสวน และยังเป็นการเพิ่มช่องทางการสื่อสารระหว่างผู้บริโภค และเจ้าของสวน

สำหรับราคาขายทุเรียนชำราก-ซูเปอร์พรีเมียม หมอนทอง เริ่มตันที่กิโลกรัมละ 180 บาท เกรดพรีเมียม หมอนทอง พวงมณี ชะนี ราคาเริ่มตันที่กิโลกรัมละ 150, 150, 120 บาท ส่วนทุเรียนหมอนทอง พวงมณี ชะนี ธรรมดา ราคาเริ่มต้นที่กิโลกรัมละ 100 และ 120 ผู้สนใจสามารถสั่งซื้อ ผ่าน FB:DurianChamrakBigfarm ได้โดยตรง

ผู้บริโภคจีนแห่สั่งซื้อทุเรียนไทยผ่านเว็บไซต์อาลีบาบา

และภายหลังจากที่ นายแจ็ค หม่า ประธานบริหารบริษัทในกลุ่มอาลีบาบา ได้เดินทางเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย เมื่อวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา และได้ลงนามใน เอ็มโอยูกับรัฐบาลไทย เกี่ยวกับความร่วมมือด้านการค้าการลงทุน การขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล การจัดตั้งสมาร์ตดิจิทัลฮับในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และลงนามในข้อตกลงเป็นตัวแทนจำหน่ายทุเรียนหมอนทองกับรัฐบาลไทย ผ่านทางเว็บไซต์ทีมอลล์ (Tmall) ก็ทำให้เกิดปรากฏการณ์ยอดสั่งซื้อแบบถล่มทลาย และยังทำให้บรรยากาศการรับซื้อทุเรียนของล้งรับซื้อทุเรียนเพื่อการส่งออกหลายแห่งใน อ.ขลุง จ.จันทบุรี เป็นไปอย่างคึกคัก

น.ส.จรินทร์ ศิริการ ฝ่ายจัดซื้อบริษัท ซุปเปอร์ฟรุ๊ตไทยแลนด์ ซึ่งเป็น 1 ในบริษัท ทีมอล ดอทคอม ในเครืออาลีบาบา กรุ๊ป ที่ได้รับการคัดเลือกให้ส่งออกทุเรียนไทยไปยังประเทศจีนเผยว่า ข่าวการลงทุนของ แจ็ค หม่า ทำให้ราคาทุเรียนรับซื้อปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้ราคาทุเรียนเกรดเอ หรือเกรดคุณภาพ แบบเหมาสวนพุ่งพรวดเป็น 78 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิม 65-70 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนทุเรียนเกรดซี ขยับจาก 55 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 65 บาท ทำให้เจ้าของสวนต่างๆ เร่งนำผลผลิตทุเรียนหมอนทองคุณภาพส่งขาย

“ในแต่ละวันจะมีทุเรียนขนขึ้นตู้คอนเทนเนอร์เพื่อเดินทางไปยังประเทศจีนวันละ 10 ตู้ โดยจะบรรจุทุเรียนแพกกล่อง ตู้ละ 18 ตัน รวมน้ำหนัก 213,120 กิโลกรัม คิดเป็นเงินกว่า 30 ล้านบาท นับว่าเป็นความโชคดีของเกษตรกรชาวสวนทุเรียนจันทบุรี ที่ในวันนี้มีผลผลิตทุเรียนหมอนทองคุณภาพเพียงพอต่อการส่งออก” น.ส.จรินทร์ กล่าว

เช่นเดียวกับ นายชานนท์ สงบจิต อายุ 27 ปี ลูกชายเจ้าของกิจการล้งทุเรียนใน จ.จันทบุรี ที่ได้รับโอกาสในการส่งทุเรียนให้แก่กลุ่มอาลีบาบา กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ล้งของตนเองได้รับการคัดเลือกจากบริษัทแห่งนี้ หลังดำเนินกิจการมานานกว่า 20 ปี และล้งแห่งนี้ยังได้คัดเลือกทุเรียนหมอนทองเกรด A และ B ที่รับจากเกษตรกรใน อ.ขลุง และ อ.มะขาม ส่งขายไปยังประเทศต่างๆ ทั้งในเอเชีย และยุโรปด้วย

โดยให้ความสำคัญต่อการคัดเลือกทุเรียนที่มีเปอร์เซ็นต์แป้งที่เหมาะสม รูปทรงสวยงาม ผิวสวย และน้ำหนักต้องไม่ต่ำกว่า 2 กิโลกรัม

ตัวแทนกลุ่มอาลีบาบาแนะชาวสวนทุเรียนไทยมุ่งผลิตสินค้าคุณภาพ

ด้าน Mr.Gao mengdi Qc Tmall ตัวแทนจากบริษัทอาลีบาบา กล่าวว่า เดิมบริษัทได้รับทุเรียนจากไทยไปขายเป็นประจำอยู่แล้ว แต่ในปีนี้ได้ขยายตลาดด้วยการเปิดรับซื้อจากล้งต่างๆ โดยตรง ซึ่งคนจีนนิยมรับประทานทุเรียนเช่นเดียวกับคนไทย เพราะติดใจในรสชาติหวาน มัน ซึ่งในอนาคต กลุ่มอาลีบาบา จะขยายการรับซื้อไปยังผลผลิตอื่น เช่น มังคุด และลำไย

พร้อมฝากมายังเกษตรกรชาวสวนทุเรียนของไทยว่า ควรเน้นการผลิตทุเรียนที่มีคุณภาพ และไม่ตัดทุเรียนอ่อนออกขาย เพื่อรักษาชื่อเสียงของทุเรียนไทยให้ชาวต่างชาติได้ชื่นชม

ยิ่งราคาดี ยิ่งล่อใจคนร้ายลอบตัดทุเรียน

แต่ก็ดูเหมือนว่าบรรยากาศการซื้อขายที่คึกคัก และราคาทุเรียนที่ขยับขึ้นสูงขึ้นเป็นลำดับ กำลังส่งผลร้ายต่อเจ้าของสวนหลายรายที่ถูกคนร้ายลอบขโมยตัดทุเรียนออกขาย จนสร้างความเสียหายให้เป็นอย่างมาก ไม่เพียงเท่านั้น ยังเจอทุกข์เกี่ยวกับพายุฤดูร้อน ที่พัดถล่มสวนผลไม้หลายแห่งใน จ.จันทบุรี ระยอง และตราด จนได้รับความเสียหายกันถ้วนหน้า โดยเฉพาะ ผลผลิตที่พร้อมตัดออกขาย แต่ต้องกลับกลายล่วงหล่นลงพื้นจนขายไม่ได้ราคา ในวันนี้ชาวสวนจึงได้แต่เพียงทำใจ และทำได้เพียงรอการเยียวยาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นเดียวกับการลงทุนติดตั้งเครื่องป้องกันขโมยไม่ให้ลอบเข้ามาตัดทุเรียนซ้ำ

นายสินปชัย สิงห์ขรณ์ เจ้าของสวนทุเรียนในพื้นที่ ม.8 ต.อ่างคีรี อ.มะขาม จ.จันทบุรี บอกว่า การก่อเหตุของคนร้ายจะคล้ายกัน คือ เลือกสวนทุเรียนที่ไม่มีคนเฝ้า และอยู่ติดถนน เพราะง่ายต่อการขนย้าย โดยจะเลือกก่อเหตุในเวลากลางคืน และในวันนี้เจ้าของสวนหลายแห่งต้องจัดทำรั้วล้อมรอบ และติดตั้งสปอตไลต์ รวมทั้งกล้องวงจรปิดเพื่อป้องกันคนร้ายเข้ามาก่อเหตุซ้ำ ขณะเดียวกัน ก็ได้แต่ขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเร่งติดตามจับกุมให้ได้โดยเร็ว








กำลังโหลดความคิดเห็น