ยะลา - พาณิชย์จังหวัดยะลา ร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเกษตรกรชาวสวนทุเรียนยะลา มุ่งควบคุมคุณภาพเตรียมส่งออกหนุน “อาลีบาบา” ตามนโยบายนายกรัฐมนตรี
วันนี้ (2 พ.ค.) ที่ห้องวลัย 2 โรงแรมยะลารามา อ.เมือง จ.ยะลา นายอนุชิต ตระกูลมุทุตา ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ได้เป็นประธานเปิดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการผลิต ตามระบบการจัดการคุณภาพ GAP สำหรับสวนทุเรียน และการแกะเนื้อทุเรียนจากสวนแช่แข็ง ให้มีคุณภาพเพื่อการส่งออก พร้อมเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การซื้อขายผลไม้ระหว่างสถาบันเกษตร และตัวแทนบริษัท ควีน โฟรเซ่น ฟรุ๊ต จำกัด โดยมีกลุ่มสถาบันเกษตร กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนแปลงใหญ่ ให้ความสนใจเข้าร่วมกว่า 50 ราย
สำหรับการจัดอบรมครั้งนี้ ทางสำนักงานพาณิชย์จังหวัดยะลา ได้รับอนุมัติงบประมาณจากกรมการค้าภายใน ให้ดำเนินการอบรมเชิงปฏิบัติการการผลิต ตามระบบการจัดการคุณภาพ GAP สำหรับสวนทุเรียน และการแกะเนื้อทุเรียนจากสวน เพื่อแก้ไขปัญหาราคาผลไม้ตกต่ำของ จ.ยะลา โดยการส่งเสริม และสนับสนุนให้เกษตรกรผลิตผลไม้ที่มีคุณภาพ และเพิ่มมูลค่าผลไม้เกรดรอง โดยเฉพาะทุเรียน และได้ประสานเชื่อมโยงผู้ประกอบการรับซื้อผลไม้ และผู้ประกอบส่งออกเข้ามารับซื้อผลไม้คุณภาพจากเกษตรกรเป็นการล่วงหน้า
สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ สอดรับต่อนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการยกระดับราคาสินค้าเกษตร สร้างความมั่นคงในอาชีพ และรายได้ให้แก่เกษตรกร และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) ยุทธศาสตร์การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ และแข่งขันได้อย่างยั่งยืน ยุทธศาสตร์กระทรวง : ยุทธศาสตร์ที่ 1 การสร้างขีดความสามารถให้ผู้ประกอบการและวิสาหกิจสู่การเป็น Trading Nation ยุทธศาสตร์จังหวัด : ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 1 ส่งเสริมพัฒนาการผลิต และการแปรรูปผลผลิต ด้านการเกษตรเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และการส่งออก
นายนิอันนุวา สุไลมาน พาณิชย์จังหวัดยะลา เปิดเผยว่า ปัจจุบันพฤติกรรมการซื้อทุเรียนเริ่มเปลี่ยน เพราะทุเรียนในเรื่องของการพัฒนา เปลี่ยนรูปแบบการซื้อเดิมจากผลสด มาเป็นทุเรียนแช่เย็นแช่แข็ง แล้วส่งออกของตลาดตอนนี้ คนที่ซื้อเปลี่ยนวิธีการซื้อ พอเปลี่ยนการซื้อจะเป็นทุเรียนสุก ทุเรียนคุณภาพ และแช่ ประเทศจีนเองก็เปลี่ยนการซื้อ เพราะฉะนั้นทางยุโรป อเมริกากินทุเรียนที่ปลอดสารพิษ และทุเรียนเป็นลูก แช่เย็นลบ 45 องศา ระยะยาวจะต้องเตรียมเกษตรกรในจังหวัด ที่มาวันนี้ได้เชิญตัวแทนเกษตรกรที่หลักๆ ทั้ง 3 จังหวัด ที่ทำผลไม้แปลงใหญ่ จึงมองว่าเกษตรกรต้องปรับตัวเพื่อที่จะทำทุเรียนคุณภาพเพิ่มขึ้น
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เชิญ “แจ๊ค หม่า” เจ้าของเว็บไซต์ “อาลีบาบา” ตามนโยบายได้พูดชัดเจนว่า คุณภาพไปได้ เพราฉะนั้น เกษตรกรต้องเตรียมตัว หากไม่เตรียมตัวระยะยาว ถ้าเกิดอะไรขึ้นเกษตรกรจะลำบาก เพราะพื้นที่การปลุกทุเรียนในพื้นที่ 5 หมื่นกว่าไร่ ผลผลิตไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นตัน มันไม่น้อยเลย เพราะฉะนั้น วิธีการก็คือจะดูสถานการณ์ในการซื้อทุเรียนจากภาคตะวันออก แล้วไล่ลงมาที่ จ.ชุมพร ต่อไปลงมา จ.ยะลา เพราะฉะนั้น การเตรียมตัวเที่ยวนี้ได้เชิญบริษัทเอกชนที่เป็นบริษัทห้องเย็นหลัก และมีตลาดห้องเย็นต่างประเทศกว่า 30 ประเทศ และบริษัทเอกชนอีกแห่งที่อยู่ใน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ที่มีความต้องการทุเรียนเพื่อส่งออกต่างประเทศ เพราะฉะนั้น ในการเตรียมตัวครั้งนี้จึงสอดคล้องต่อห้องเย็นที่อยู่ใน จ.ยะลา จะต้องโฟกัสให้ชัดว่าห้องเย็นที่ จ.ยะลา จะเดินตามกระบวนการผลิต แล้วจะเข้าตลาดอย่างไรซึ่งจะเป็นระบบ และไม่เป็นปัญหาในอนาคตจุดนี้เป็นเรื่องสำคัญ
การทำวันนี้จึงไม่คาดหวังร 100 เปอร์เซ็นต์ว่าจะทำสำเร็จ แต่ในการที่คิดร่วมกัน การได้รู้ข้อมูลการเปลี่ยนแปลง วิทยากรมาจากศูนย์ที่เกี่ยวกับคุณภาพ จะต้องเตรียมตัวให้พร้อม เมื่อวานนี้ (1 พ.ค.) ก็ได้ลงพื้นที่พูดคุยกับเกษตรกร และได้รับความสนใจมากันพอสมควร ตั้งเป้าไว้ 50 ครอบครัวหลัก แต่คาดว่าจะเกิน และได้รับการสนับสนุนจากกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ งบประมาณหลักที่มาในครั้งนี้ มีวิทยากรที่เป็นอดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงพาณิชย์ มาให้ความรู้เบื้องต้น ซึ่งเกษตรกรทำอยู่แล้ว และจะทำให้ดีขึ้นอย่างไร
“สำหรับปัญหาผลผลิตปีนี้ เท่าที่คาดการณ์จากการประสานข้อมูลในภาคตะวันออก และจุดอื่นๆ ผลผลิตลดลง เพราะลมฝนที่มา เพราะฉะนั้น ความต้องการทุเรียนในต่างประเทศยังมีอยู่ในมณฑลต่างๆ ของจีน ก็ยังต้องการอยู่ แต่อยู่ที่วิธีการซื้อ และการบริหารจัดการ จะต้องประเมินสถานการณ์ทุกระยะ จะบอกว่าราคาทุเรียนดีตลอดต้องดูที่คุณภาพ ราคาเป็นไปตามคุณภาพ การเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ชัดเจนมาก ทุเรียนไม่ถึงกับล้นตลาด แต่อยู่ที่การบริหารจัดการ ส่วนผลผลิตทุเรียนของ จ.ยะลา ในปีนี้คาดว่าอยู่ที่ประมาณ 3 หมื่นกว่าตัน เป็นตัวเลขที่ขึ้นทะเบียน แต่ถ้าดูพื้นที่น่าจะมากกว่า โดยเฉพาะทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ปลูกทั่วประเทศยิ่งต้องระมัดระวัง ถ้าไม่ปรับในเรื่องของคุณภาพ และการเตรียมความพร้อมของการจัดการที่มีห้องเย็น และตลาดที่มีอยู่จะเสียโอกาสในระยะยาว สงสารเกษตรกร ส่วนความสำเร็จจะได้แค่ไหนเป็นวิธีการที่ต้องช่วยกัน ตอนนี้ทุกภาคส่วนได้เข้ามาช่วยกัน” นายนิอันนุวา กล่าว