ศูนย์ข่าวศรีราชา - สภาเมืองพัทยา ขอความร่วมมือ คสช.จัดกำลังทหารร่วมพิสูจน์ข้อเท็จจริงผลตรวจวัดชั่งน้ำหนักปริมาณขยะพัทยา หลังผู้เกี่ยวข้องระบุปริมาณขยะสูงเฉลี่ย 450 ตันต่อวัน และมีสัดส่วนเพิ่ม 10% ทุกปี ชี้ไม่มั่นใจระบบการชั่ง ตวง วัด หลังพบผู้ลงบันทึกเป็นเจ้าหน้าที่จากภาคเอกชน โดยไม่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปกำกับดูแล อาจะทำให้ข้อมูลปริมาณขยะไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ทำรัฐเสียงบประมาณมหาศาล
วันนี้ (25 เม.ย.) นายอนันต์ อังคณาวิศัลย์ ประธานสภาเมืองพัทยา ได้กล่าวในที่ประชุมสภาเมืองพัทยา สมัยวิสามัญ ครั้งที่ 2/2561 ซึ่งจัดขึ้นที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา จ.ชลบุรี ว่า ปัจจุบันเมืองพัทยาต้องใช้งบประมาณในการว่าจ้างภาคเอกชนจัดการเก็บและขนถ่ายขยะเพื่อนำไปกำจัด เฉลี่ยประมาณ 300-400 ล้านบาทต่อวัน ซึ่งปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในเมืองพัทยาขณะนี้มีประมาณ 450 ตันต่อวัน และยังมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นอีก 10% ในทุกปี ซึ่งก็จะทำให้มีค่าขนถ่าย และกำจัดเพิ่มขึ้นเป็น 1,600 บาทต่อตันด้วย
“อย่างไรก็ตาม ปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในแต่ละวันที่เจ้าหน้าที่จากสำนักงานสิ่งแวดล้อมชี้แจงนั้น เป็นปริมาณที่มีการนับค่าเฉลี่ยจากการตรวจวัดในระบบชั่งที่ศูนย์พักถ่ายขยะ ในซอยสุขุมวิท 3 ซึ่งจากการที่สภาเมืองพัทยา ได้ลงพื้นที่#ตรวจสอบ พบว่า ผู้ลงบันทึกปริมาณขยะเป็นพนักงานของภาคเอกชน หรือ Out Source ที่เมืองพัทยา จ้างมาเพียง 1 คน โดยที่ไม่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปตรวจสอบ หรือกำกับดูแล จึงไม่มั่นใจว่าปริมาณขยะต่อเที่ยวที่ระบุไว้ว่ามีค่าเฉลี่ย 450 ตันต่อวันนั้นจะตรงกับข้อเท็จจริงหรือไม่ ซึ่งแม้จะมีคำชี้แจงจากเจ้าหน้าที่ว่า ระบบการชั่ง ตวง วัด ที่จัดทำไว้เป็นระบบคอมพิวเตอร์แบบปิดที่ไม่สามารถแก้ไขข้อมูล และตรวจสอบย้อนหลังได้หลายปี แต่หากรถขนถ่ายมีปริมาณน้ำขยะตกค้างเป็นจำนวนมากในรถ โดยไม่มีการรีดน้ำออกก่อนทำการชั่ง ทั้งที่จริงแล้วปริมาณขยะไม่ได้มากตามที่ระบุไว้ เรื่องนี้ทำให้เมืองพัทยาเกิดความเสีย หายที่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการเก็บขน และขนถ่ายไปกำจัดตามปริมาณที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง”
เบื้องต้น จึงได้ประสาน พล.ต.ต.ภพอนันฒ์ เหลืองภานุวัฒน์ รองประธานสภาเมืองพัทยา ในฐานะหัวหน้ารักษาความสงบ จ.ชลบุรี ให้จัดส่งกำลังทหาร ร่วมกับกำลังเจ้าหน้าที่เทศกิจ และสำนักกฎหมายเมืองพัทยา เข้าทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงระบบการชั่งตวงวัด และตรวจนับปริมาณขยะเพื่อหาค่าเฉลี่ยจริงภายใน 1 สัปดาห์ ซึ่งจะทำให้เมืองพัทยาได้รับทราบว่าปริมาณขยะที่เกิดขึ้น และระบุไว้ถูกต้องหรือไม่
และหากพบว่า มีปริมาณน้อยกว่าที่กำหนดไว้ก็จะนำมาใช้ในการกำหนดขอบเขต และงบประมาณในการว่าจ้างภาคเอกชนในการจัดเก็บ และขนถ่ายเพื่อลดค่าใช้จ่ายในส่วนของงบประมาณต่อไป โดยแผนดังกล่าวจะเริ่มตั้งแต่วันพุธที่ 25 เมษายนนี้เป็นเวลา 1 สัปดาห์ ก่อนนำผลสรุปเสนอรายงานต่อสภาเมืองพัทยาต่อไป