ราชบุรี - หลวงพ่อเขียน แห่งวัดโบสถ์ข้าวโพดแปดแถว ผู้นำชุมชนในการรังสรรค์ศาลาการเปรียญวัดโบสถ์ ให้เป็นที่รวบรวมหนังสือต่างๆ รวมไปถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น พร้อมพัฒนาเป็นหอวัฒนธรรมลาวเวียง แหล่งเรียนรู้ชุมชน ห้องสมุดมีชีวิตเพื่อให้บริการแก่เยาวชน และชาวบ้านในพื้นที่ได้ศึกษาเรียนรู้
เมื่อปี 2559 พระครูโพธารามพิทักษ์ หรือหลวงพ่อเขียน เจ้าอาวาสวัดโบสถ์ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ เลื่อนสมณศักดิ์ให้เป็นพระมงคลชัยสิทธิ์ ในฐานะที่ท่านได้ทำคุณประโยชน์แก่ชาติ และพระพุทธศาสนามาโดยตลอดอย่างถ่องแท้
หลวงพ่อเขียน คือ ผู้นำชุมชนในการรังสรรค์ศาลาการเปรียญวัดโบสถ์ให้เป็นที่รวบรวมหนังสือต่างๆ รวมไปถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น ก่อนจะพัฒนาเป็นหอวัฒนธรรมลาวเวียง แหล่งเรียนรู้ชุมชน ทำให้เป็นห้องสมุดมีชีวิตเพื่อให้บริการแก่เยาวชน ชาวบ้านในพื้นที่ และชุมชนใกล้เคียง
หอวัฒนธรรมลาวเวียงเกิดจากแนวคิดของ หลวงพ่อเขียน ท่านเก็บรวบรวมข้าวของเครื่องใช้ และศิลปวัตถุที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวลาวเวียงในชุมชนวัดโบสถ์
นอกจากนี้ ท่านยังเป็นผู้มีความรู้แตกฉานด้านพระธรรมวินัย มีวัตรปฏิบัติที่เลื่อมใสศรัทธาของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป และเป็นผู้นำ และมีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่น และชุมชนอย่างต่อเนื่อง ท่านเป็นศิษย์เอกผู้สืบทอดพุทธาคม ตำรับน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ ของพระครูประสาทสังวรกิจ หลวงปู่อินทร์ อินทโชโต อดีตเจ้าอาวาสวัดโบสถ์ โดยในสมัยที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นท่านได้รับความเลื่อมใสศรัทธาจากพุทธศาสนิกชนทั่วไป วิทยาคมแก่กล้า พลังสมาธิจิตอยู่ในระดับสูง ท่านยังมีความรู้ความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในด้านแพทย์แผนโบราณ มีความสามารถในการบำบัดรักษาโรคภัยไข้เจ็บ
แต่ละวันมีลูกศิษย์ทั้งชาวไทย และต่างประเทศเดินทางไปกราบไหว้ ขอพร รดน้ำมนต์ รวมทั้งดูดวงอย่างต่อเนื่อง ในฐานะที่ท่านเป็นผู้นำท้องถิ่น ท่านได้ให้การสนับสนุนการจัดทำนโยบายเรื่องการฝึกอบรมอาสาสมัครพระสงฆ์ที่ทุกวัดต้องปฏิบัติตาม ด้วยเล็งเห็นว่า หากพระสงฆ์มีความรู้ความเข้าใจเรื่องโรคก็จะดำเนินชีวิตอย่างไม่ประมาท ไม่ต้องเจ็บป่วยจนกลายเป็นภาระของสังคม
โดยท่านมีแนวคิดว่า พระสงฆ์เปรียบเสมือนหัวใจสำคัญของสังคมไทยในการเป็นเครื่องยืดเหนี่ยวจิตใจ หากพระเจ็บป่วยแล้วใครจะเป็นที่พึ่งของญาติโยม ดังนั้น พระจะต้องประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่าง ทั้งการเป็นผู้สืบทอดพระพุทธศาสนา และการเป็นผู้ชี้นำเรื่องสุขภาพอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม หลวงพ่อเขียน ในวัย 80 ปี ท่านยังมีสุขภาพที่แข็งแรง ได้เล่าขานถึงความเป็นมา ของชาวไทยลาวเวียง หรือกลุ่มชนชาวลาวตี้ ในเขตพื้นที่ ต.นางแก้ว วัดบ้านฆ้อง และ ต.บ้านเลือก อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
“ชนชาติลาวกลุ่มหนึ่งที่มีเชื้อสายลาวจากเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งถูกกวาดต้อนเข้ามาในประเทศไทยประมาณ 200 ปีมาแล้ว ปัจจุบันนี้ คนลาวเวียงส่วนใหญ่ไม่ค่อยที่จะพูดภาษาของตนเอง เพราะรู้สึกอายในภาษา และสำเนียง ส่วนประเพณีที่น่าสนใจ และเป็นแบบอย่างในเรื่องความรัก ความสามัคคีของหมู่คณะ ความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษ ได้แก่ ประเพณีสารทลาวเวียง ประเพณีนี้อยู่คู่กับชุมชนลาวเวียงมาตั้งแต่ก่อตั้งชุมชนได้เลยทีเดียว และยังนำมาปฏิบัติจนกระทั่งทุกวันนี้”
สำหรับพิธีกรรมหนึ่งที่ได้รับความนิยมทั้งคนในท้องถิ่น และคนต่างถิ่น คือ พิธีแต่งแก้ หรือพิธีแก้เคราะห์กรรม ทั้งนี้ หลวงพ่อเขียน เล่าให้ฟังอีกว่า “ลาวที่อพยพมาจากนครเวียงจันทน์ ประเทศลาว ประมาณ พ.ศ.2322 ได้นำเอาบุญประเพณีที่เกี่ยวข้องต่อชีวิตประจำวัน และความเชื่อก็ติดมาด้วย แต่ด้วยระยะกว่า 200 ปี ทำให้วัฒนธรรมหายไปตามกาลเวลาเกือบทั้งหมด บุญประเพณีแข่งกลอง บุญบั้งไฟ ที่เคยมีก็หายไป ส่วนเรื่องภาษานั้นจะพูดกันในหมู่ผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ก็ยังมีวัดบางแห่งที่สวดให้พรญาติโยมเป็นภาษาบาลี สำเนียงลาวอยู่
สำหรับการสะเดาะเคราะห์ที่นี่ เรียกว่า “แต่งแก้-แก้ร้ายกลายเป็นดี” หรือ “พิธีสะเดาะเคราะห์ต่อชะตา” เป็นพิธีกรรม หลวงปู่อินทร์ อดีตเจ้าอาวาสทำมากว่า 40 ปี ขณะที่หลวงพ่อเขียน ก็ทำมากกว่า 30 ปี โดยผู้ที่เข้าร่วมพิธีจะต้องแจ้งชื่อวันเดือนปีเกิด เพื่อจะได้ดูดวงชะตาต้องแก้ด้วยอะไรบ้าง ด้วยคติความเชื่อที่ว่า “หายเจ็บ หายไข้"
“พิธีแต่งแก้ เป็นความเชื่อของคนลาวมาตั้งแต่โบราณ ในอดีตนั้นจะเป็นความเชื่อของคนลาวในท้องถิ่นเท่านั้น ทั้งนี้ จะทำพิธีนี้เมื่อขวัญเสีย เรียกขวัญ พระศุกร์เข้าพระเสาร์แทรก รวมทั้งเมื่อยามเจ็บไข้ได้ป่วย ด้วยความเชื่อที่ว่า เมื่อใครได้ทำพิธีนี้แล้วเกิดสิริมงคลแก่ชีวิต จึงมีคนนอกพื้นที่เข้ามาร่วมพิธีจำนวนมาก โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ”
สำหรับวัดโบสถ์ เป็นวัดเก่าแก่อีกวัดหนึ่งของเมืองโอ่ง ชาวบ้านเรียกขานวัดโบสถ์ข้าวโพดแปดแถว ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 28 ไร่ ในหมู่หมู่บ้านที่ 1 ต.บ้านเลือก เป็นวัดเก่าแก่อายุเกือบ 200 ปี เริ่มตั้งแต่สมัยพระอธิการบุตตา ได้สร้างกุฏิ และวางรากฐานอุโบสถตั้งแต่ปี พ.ศ.2370 มีประชาชนร่วม 3 หมู่บ้าน ร่วมกันทำบุญกุศลอยู่ที่วัด และสร้างศาสนสถาน เช่น อุโบสถ ศาลาการเปรียญ กุฏิ ศาลาอเนกประสงค์ ศาลาฌาปนสถาน ตลอดจนถาวรวัตถุภายในวัด
วัดโบสถ์ เดิมคือ วัดบ้านเลือกเหนือ คู่กับวัดบ้านเลือกใต้ (วัดบ้านเลือก) ต่อมา หลวงปู่อินทร์ (พระครูประสาทสังวรกิจ) ได้สร้างอุโบสถขึ้นมาใหม่เพื่อทำสังฆกรรมของพระภิกษุสงฆ์ ผู้คนเห็นต่างเล่าลือบอกต่อๆ ว่า วัดนี้โบสถ์งาม ต่อมา คนเรียกว่า วัดโบสถ์งาม และขานมาเป็น “วัดโบสถ์” จนถึงปัจจุบันนี้
ที่สำคัญ วัดโบสถ์มีน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งสืบทอดเป็นตำนานมานับศตวรรษแล้ว โดยเฉพาะในเรื่องการสะเดาะเคราะห์ต่อชะตา ในทุกๆ วันก็จะมีคนจำนวนมากมาทำพิธีสะเดาะเคราะห์กัน จนในบริเวณวัดก็จะมีตลาดเล็กๆ เกิดขึ้น ซึ่งก็เป็นชาวบ้านแถวนั้นนำผักพื้นบ้านที่ปลูกขึ้นเองมาวางขาย ผักสดๆ ราคาไม่แพง ไม่ว่าจะเป็นมะกรูด ตำลึง กระถิน ขนุน หัวปลี และมีหน่อไม้ และน้ำพริกตาแดงที่เด่นอีกอย่างหนึ่งในวัดโบสถ์ แต่ก็มีอีกอย่างที่เด่นกว่า คือ ข้าวโพดแปดแถว ที่พ่อค้าแม่ค้าที่อยู่แถวนั้นปลูกเองแล้วนำมาขายที่วัดโบสถ์ ร้านข้าวโพดแปดแถวที่ไม่ว่าจะตั้งเป็นแผงร้านข้าวโพดที่ว่าจะตั้งเป็นแผงขายอยู่ในวัดโบสถ์
ข้าวโพดที่ขายกันก็จะเป็นข้าวโพดข้าวเหนียว แต่ละฝักจะมี 8 แถว จึงเรียกว่า ข้าวโพด 8 แถว ที่นี่เขาจะหักข้าวโพดแล้วเอามาต้มทันที ข้าวโพดจะนุ่ม และหวาน ไม่เหมือนข้าวโพดต้มในกรุงเทพฯ ที่หักมาหลายวันแล้วจึงเอามาต้ม กินเท่าไรก็ไม่มีความหวาน ต้องเอาจุ่มในน้ำเกลือผสมน้ำตาลจึงจะมีรสหวาน กินแล้วเหนียวมือชะมัด ไม่เหมือนข้าวโพดที่นี่ไม่ต้องจุ่มอะไรเลย ทั้งนุ่ม ทั้งหวาน สด ใหม่ ต้มใหม่วันต่อวัน สามารถซื้อไปรับประทานได้เลย
วัดโบสถ์ ต.บ้านเลือก อ.โพธาราม จ.ราชบุรี เป็นวัดหนึ่งที่มีเรื่องราวดีๆ ที่น่าสนใจมากมาย เหมาะที่จะมาเยือนเพื่อความเป็นสิริมงคลในชีวิต และเข้ามาปฏิบัติธรรมเพื่อเข้าถึงพระธรรมด้วยความสงบ ด้วยมีประวัติที่น่าสนใจซ่อนอยู่ในเรื่องราวของวิถีดั้งเดิมอีกแห่งหนึ่ง