ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ลงพื้นที่เชียงใหม่ประชุมมอบนโยบายปฏิบัติการฝนหลวงยับยั้งลูกเห็บ และปฏิบัติการดัดแปรสภาพอากาศเพื่อบรรเทาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมผุดไอเดียจัดตั้งอาสาสมัครฝนหลวงทั้งภาคพื้นดิน และภาคอากาศ ช่วยเสริมศักยภาพการทำฝนหลวง
วันนี้ (28 มี.ค. 61) ที่ห้องศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานประชุมและมอบนโยบายการดำเนินงานโครงการความร่วมมือกับกองทัพอากาศ ในการปฏิบัติการฝนหลวงยับยั้งความรุนแรงของการเกิดลูกเห็บในพื้นที่ภาคเหนือประจำปี 2561 โครงการปฏิบัติการดัดแปรสภาพอากาศเพื่อบรรเทาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ และการปฏิบัติการฝนหลวงพื้นที่ภาคเหนือประจำปี 2561 โดยมีอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร พร้อมด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมและรับฟังนโยบายการดำเนินโครงการในครั้งนี้
นายวิวัฒน์เปิดเผยว่า จากสภาวะภัยแล้งบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศตลอดจนภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งปัจจุบันความรุนแรงจากสภาวะภัยแล้งและการเกิดพายุลูกเห็บได้แผ่ขยายเป็นวงกว้าง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้มอบหมายให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อบรรเทาภัยพิบัติและภัยแล้งตามยุทธศาสตร์การบรรเทาภัยพิบัติของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เพื่อบรรเทาความรุนแรงจากภัยดังกล่าว ด้วยเทคนิคการปฏิบัติการฝนหลวงเมฆเย็น ซึ่งเป็นเทคนิควิธีการหนึ่งในการดัดแปรสภาพอากาศที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตรได้พระราชทานไว้ในตำราฝนหลวงพระราชทาน
ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยว่า จากการพูดคุยหารือกันในครั้งนี้ยังได้ข้อสรุปเป็นแนวทางร่วมกันด้วยในการที่จะจัดตั้งอาสาสมัครฝนหลวง ทั้งอาสาสมัครภาคพื้นดินและอาสาสมัครภาคอากาศ โดยในส่วนของอาสาสมัครภาคพื้นดินนั้น จะทำหน้าที่เพิ่มความชุ่มชื้นในอากาศด้วยการปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่ป่าและพื้นที่สีเขียว ซึ่งเมื่อพื้นที่ป่าหรือต้นไม้เพิ่มมากขึ้นจะช่วยให้การเก็บซับน้ำไว้ในพื้นที่ดินพร้อมช่วยความชุ่มชื้นในอากาศไปด้วย
ส่วนอาสาสมัครภาคอากาศจะเป็นในลักษณะของผู้มีเครื่องบินส่วนตัวหรืออากาศยาน แล้วเข้ามาช่วยโปรยเมล็ดพันธุ์พืชเพื่อปลูกป่า หรือแม้กระทั่งร่วมบินทำฝนหลวง ซึ่งจากนี้จะเร่งจัดทำรายละเอียดในเรื่องนี้และผลักดันให้เป็นรูปธรรมต่อไป
ด้านนายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า สำหรับเทคนิคการปฏิบัติการฝนหลวงเมฆเย็นจะใช้เครื่องบินแบบปรับความดัน (Super King Air) ซึ่งสารฝนหลวงสี่ใช้กับเมขเย็น หรือเมฆที่อุณหภูมิภายในต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส หรือซิลเวอร์ไอโอไดด์ เป็นสารที่ผลึกมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับแกนผลึกน้ำแข็งในธรรมชาติ ภายในเมฆเย็นจะมีเม็ดน้ำเย็นยิ่งยวดปริมาณมาก
การเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำแข็งในเมฆ จะเป็นการเร่งกระบวนการทางธรรมชาติที่เดิมมีปริมาณการผลิตน้ำแข็งอยู่น้อย เพื่อทำให้เกิดผลึกน้ำแข็งปริมาณมากขึ้นและเกิดการยกตัวของเมฆจากการคายความร้อนแฝง ได้ปริมาณน้ำฝนมากกว่าธรรมชาติ ซึ่งเมฆที่เกิดในฤดูร้อนมักทำให้เกิดพายุฤดูร้อน และอาจมีลูกเห็บเกิดขึ้นได้ เนื่องจากเมฆมีการยกตัวอย่างรวดเร็ว และมีแกนน้ำแข็งภายในเมฆน้อย น้ำแข็งที่อยู่ในเมฆหรือยอดเมฆร่วงหล่นลงมาถึงพื้นโดยที่ละลายไม่ทัน
สำหรับเทคนิคการปฏิบัติการฝนหลวงเมฆเย็น เพื่อเพิ่มแกนผลึกน้ำแข็งให้มากกว่าการปฏิบัติการเมฆเย็นตามปกติจะช่วยลดโอกาสการเกิดลูกเห็บได้ เนื่องจากแกนผลึกน้ำแข็งปริมาณมากที่เพิ่มเข้าไปในเมฆเย็นจะไปแย่งเม็ดน้ำเย็นยิ่งยวด ทำให้เกิดผลึกน้ำแข็งขนาดเล็กปริมาณมาก เมื่อเกิดฝนตกผลึกน้ำแข็งขนาดเล็กเหล่านี้จะละลายก่อนที่จะตกถึงพื้น สามารถลดความเสียหายได้
ทั้งนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตรมีแผนปฏิบัติการตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา โดยใช้เครื่องบิน Super King Air 350 ของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรซึ่งประจำการอยู่ที่หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดพิษณุโลก และในช่วงปลายเดือนมีนาคม-เมษายน กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้จัดทำโครงการความร่วมมือกับกองทัพอากาศเพื่อใช้เครื่องบินโจมตีแบบที่ 7 หรืออัลฟาเจ็ต ซึ่งเป็นเครื่องบินที่มีสมรรถนะสูงและมีความเร็วในการเข้าถึงเป้าหมายประจำการหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อร่วมกันปฏิบัติการฝนหลวง ยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บด้วยการใช้วิธีโจมตีด้วยพลุซิลเวอร์ไอโอไดด์ เพื่อนำสารฝนหลวงซิลเวอร์ไอโอไดด์ไปเร่งกระบวนการทางธรรมชาติทำให้ผลึกน้ำแข็งเปลี่ยนสถานะเป็นเม็ดน้ำ
โดยที่ผลึกน้ำแข็งจะละลายตกลงมาเป็นน้ำฝนซึ่งจะช่วยบรรเทาความรุนแรงและยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บเพื่อลดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งผลผลิตทางการเกษตรของประชาชนอันจะเกิดจากพายุลูกเห็บลงได้ และสอดคล้องกับการดำเนินงานตามนโยบายโครงการไทยนิยมยั่งยืนตามกรอบหลักการที่ 3 ชุมชนอยู่ดีมีสุข ในการพัฒนาความเป็นอยู่ อาชีพและรายได้แก่ประชาชน อย่างไรก็ตาม ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงเหนือยังคงติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำในพื้นที่อย่างใกล้ชิดต่อเนื่องและพร้อมที่จะขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง ช่วยเหลือพื้นที่ร้องขอทันทีที่สภาพอากาศเหมาะสม รวมทั้งหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เช่น พื้นที่เก็บเกี่ยวผลผลิต พื้นที่ประสบภัย และอื่นๆ
นอกจากนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตรมีหนึ่งในภารกิจหลักในการบรรเทาปัญหาหมอกควันและไฟป่าบริเวณพื้นที่ภาคเหนือด้วยการดัดแปรสภาพอากาศ ตัวการหนึ่งของสภาพอากาศที่ส่งผลต่อการเกิดปัญหาหมอกควันคือชั้นบรรยากาศอุณหภูมิผกผัน (Inversion Layer) อุณหภูมิเพิ่มขึ้นตามระดับความสูง
ปกติในบรรยากาศชั้นโทรโพสเฟียร์ (Troposphere) อุณหภูมิจะลดลงตามระดับความสูงที่เพิ่มขึ้นด้วยอัตราประมาณ 6.4 องศาเซลเซียสต่อความสูง 1,000 เมตร ระดับที่เกิดชั้นอุณหภูมิบรรยากาศผกผันเปรียบเสมือนชั้นที่ขวางกั้นการลอยตัวของฝุ่นละอองหรือสารแขวนลอย (Aerosol) จากพื้นผิวโลกสู่บรรยากาศด้านบน เนื่องจากอุณหภูมิของฝุ่นละอองต่ำกว่าชั้นบรรยากาศอุณหภูมิผกผัน ฝุ่นละอองหรือสารแขวนลอยจึงถูกกักตัวอยู่ที่ระดับล่างใกล้พื้นผิวโลก ส่งผลต่อทัศนวิสัยในการมองเห็น สุขภาพประชาชน และสิ่งแวดล้อม
กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าวจึงพยายามคิดค้นเทคนิคในการดัดแปรสภาพอากาศเพื่อบรรเทาปัญหาหมอกควันขึ้น ในกรณีที่สภาพอากาศไม่เอื้อต่อการปฏิบัติการฝนหลวง โดยอาศัยหลักการในขั้นตอนที่ 4 ตามตำราฝนหลวงพระราชทาน ซึ่งใช้สารฝนหลวงสูตร 4 หรือน้ำแข็งแห้ง เป็นสารฝนหลวงสูตรเย็นที่มีอุณหภูมิเย็นจัดลดลงถึง -80 องศาเซลเซียส สามารถทำให้อากาศเย็นจมตัว เพิ่มความกดอากาศและเพิ่มความชื้นในบรรยากาศ ด้วยคุณสมบัติดังกล่าวเมื่อทำการโปรยสารฝนหลวงสูตร 4 บริเวณเหนือชั้นบรรยากาศอุณหภูมิผกผัน
จากสมมติฐานข้างต้นจะทำให้บริเวณนั้นมีอุณหภูมิลดต่ำลง และจะส่งผลให้ฝุ่นละออง และสารแขวนลอยที่อออยู่ใต้ชั้นบรรยากาศอุณหภูมิผกผันลอยขึ้นในบรรยากาศระดับบนได้ การปฏิบัติการฝนหลวงดังกล่าวจะใช้เครื่องบินเมฆอุ่น (CASA) จำนวน 2 ลำ สำหรับโปรยน้ำแข็งแห้ง และเครื่องบินวิจัย (Super King Air) จำนวน 1 ลำ สำหรับตรวจวัดฝุ่นละอองและองค์ประกอบอื่นๆ ปฏิบัติการร่วมกัน
โดยมีพื้นที่เป้าหมายทั้ง 9 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ เชียงราย แพร่ น่าน พะเยา และแม่ฮ่องสอน โดยเริ่มปฏิบัติการตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม 2561 นี้ อย่างไรก็ตาม กรมฝนหลวงและการบินเกษตรจะดำเนินการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อบรรเทาปัญหาหมอกควันเพื่อให้ฝนชะล้างฝุ่นละอองในอากาศในกรณีที่สภาพอากาศเอื้อต่อการปฏิบัติการฝนหลวง