xs
xsm
sm
md
lg

คิวล้น ต่างด้าวกางเต็นท์รอจับฉลาก-เข้าแถวขึ้นทะเบียนโค้งสุดท้ายข้ามคืนข้ามวันเนืองแน่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เชียงใหม่/เชียงราย - โค้งสุดท้าย แรงงานต่างด้าวในเชียงใหม่แห่เหมารถมากางเต็นท์ปักหลักรอขึ้นทะเบียนแบบข้ามวันข้ามคืนกันเนืองแน่น บางรายจองตั้งแต่ 14 มีนาฯ เพิ่งได้คิวเข้าแถวจับฉลากวันนี้



วันนี้ (27 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริเวณศูนย์บริการเพื่อการทำงานของคนต่างด้าว สัญชาติพม่า ศูนย์สินค้าเกษตรภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ยังคงมีแรงงานต่างด้าวชาวพม่าที่มากางเต็นท์นอนรอตามใต้ต้นไม้-อาคารแบบข้ามคืนข้ามวันเพื่อรอจองคิวต่อใบอนุญาตทำงาน ซึ่งมีทั้งหมด 7 ขั้นตอน ในช่วงโค้งสุดท้ายกันอย่างเนืองแน่น ก่อนจะหมดเขตในวันที่ 31 มี.ค.นี้

บางรายอยู่ในพื้นที่ต่างอำเภอต้องเหมารถมานอนรอล่วงหน้าหลายวันเนื่องจากไม่อยากเสียเวลาเดินทางกลับไปกลับมา ทำให้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพิ่มสูงขึ้นอีก


นายสุทธิพร ลุงหนุ่ม อายุ 33 ปี ที่นำแรงงานมาต่อใบอนุญาต บอกว่า มาจองคิวตั้งแต่วันที่ 14 มี.ค. แต่ได้คิวในวันนี้ คือ 27 มี.ค. ซึ่งก็ต้องมาตั้งแต่เช้ามืด และก็ต้องมายืนเข้าแถวกันยาวเหยียดเหมือนเดิมเพื่อเข้าคิวจับฉลากว่าจะได้ทำลำดับที่เท่าไหร่อีกครั้ง

“ขั้นตอนเยอะเกินทำให้เสียเวลา ความเป็นจริงมาจองคิวไว้แล้วไม่น่าให้ต้องมาจับฉลากซ้ำอีก รวมทั้งห้องสุขาก็ไม่เพียงพอต้องแย่งกันเข้า หรือต้องต่อคิว บางรายไม่ไหวต้องไปใช้บริการปลดทุกข์ในป่าแทน”

นางพรปวีณ์ วิชิต จัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงการดำเนินงานของศูนย์บริการเบ็ดเสร็จจังหวัดเชียงใหม่ (OSS) ซึ่งได้เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยเปิดรับจองคิวทางโทรศัพท์-โทร.ติดตามนัดหมาย มีการนัดหมายผ่านอำเภอ การเคาะประตูบ้าน-โรงงาน และการนัดหมายผ่านทางเว็บไซต์ จองคิว.com มียอดจองคิวเฉลี่ยวันละ 500-2,000 คน

ในช่วงแรกมีผู้มาใช้บริการประมาณร้อยละ 60-65 ต่อวัน แต่เมื่อใกล้สิ้นสุดระยะเวลาการดำเนินการของศูนย์ OSS ทางกระทรวงแรงงานได้มีการปรับแผนการทำงานของศูนย์ฯ โดยให้จังหวัดที่มีแรงงานต่างด้าวยังไม่ได้เข้าศูนย์คงเหลือจำนวนมากเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง โดยจังหวัดเชียงใหม่ได้เริ่มให้บริการ 24 ชั่วโมง ตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค.เป็นต้นมา ทำให้มีแรงงานต่างด้าวมาใช้บริการจำนวนเพิ่มขึ้น

สำหรับกรณีแรงงานต่างด้าวนอนรอข้ามคืนนั้น เป็นเพราะการให้บริการภายในศูนย์ฯ เป็นไปตามการจองคิวในแต่ละวัน โดยเริ่มแจกคิวเวลา 07.30-07.45 น. ส่วนแรงงานต่างด้าวที่ Walk in เข้ามา หากปริมาณสามารถรับได้และแรงงานต่างด้าวสมัครใจรอก็จะให้รับคิวในวันนั้นๆ แต่หากไม่รอหรือแรงงานต่างด้าวมีปริมาณมาก ทางศูนย์ฯ จะให้จองคิวที่จุดประชาสัมพันธ์เพื่อนัดให้มาเข้าศูนย์ในวันถัดไป

แต่ยังมีแรงงานส่วนหนึ่งที่มีที่พักอาศัยอยู่ห่างไกล ไม่สะดวกเดินทางไป-กลับ ใช้ศูนย์ฯ เป็นที่พัก ประกอบกับการนัดหมายคิวในแต่ละวันมีจำนวนมากทำให้แรงงานส่วนหนึ่งได้กระจายข่าวแจ้งแรงงานด้วยกันว่าจะต้องมานอนรอเพื่อรับคิวตั้งแต่เที่ยงคืนไม่เช่นนั้นจะไม่ได้คิว แม้ว่าเจ้าหน้าที่จะชี้แจงในแต่ละวันแล้วว่าคิวที่สำนักงานฯ ได้รับนัดไว้แล้วจะดำเนินการรับเรื่องให้แล้วเสร็จ และได้แจ้งให้แรงงานกลับบ้านไปก่อน แต่แรงงานยังคงยืนยันจะปักหลักชั่วคราวบริเวณศูนย์ฯ จึงทำให้มีภาพและข่าวปรากฏออกมาตามสื่อต่างๆ

สำหรับจังหวัดเชียงใหม่ มีเป้าหมายแรงงานต่างด้าวที่จะต้องเข้าศูนย์ฯ OSS จำนวน 80,085 คน ขณะนี้ดำเนินการไปแล้ว 45,163 คน คงเหลือแรงงานต่างด้าวที่ต้องดำเนินการอีก 34,922 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 25 มี.ค. 61)

เนื่องจากการดำเนินการในช่วงสัปดาห์สุดท้ายมีนายจ้างและแรงงานต่างด้าวเข้ามารับบริการที่ศูนย์ฯ เป็นจำนวนมาก อาจเป็นเหตุให้ไม่สามารถดำเนินการได้ทันตามกำหนด ซึ่งจะส่งผลให้แรงงานต่างด้าวไม่สามารถอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานได้ และเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น กรมการจัดหางานจึงได้กำหนดให้มีการลงทะเบียนรับคำร้องผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (Online) ทางเว็บไซต์ของกรมการจัดหางาน www.doe.go.th

กรณีที่ไม่สามารถลงทะเบียนได้ สำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่จะรับแบบคำร้องขอจดทะเบียนและขอมีบัตรประจำตัวแรงงานต่างด้าวไว้ก่อน โดยนายจ้างจะต้องยื่นแบบคำร้องฯ พร้อมเอกสารต่างๆ ของแรงงานต่างด้าวภายในวันที่ 31 มี.ค. 61 นี้เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม จังหวัดเชียงใหม่มีแรงงานต่างชาติในระบบจำนวน 80,085 คน มาต่อใบอนุญาตแล้วจำนวน 42,506 คน คงค้าง 37,579 คน และมีแรงงานต่างด้าวที่มาจองคิวไว้ล่วงหน้าเต็มไปจนถึงวันที่ 31 มีนาคมแล้ว จำนวน 23,552 คน คงค้างอีกกว่า 13,027 คน

ด้านนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย กล่าวหลังเดินทางไปตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ณ OSS เชียงราย ว่า เชียงรายมีแรงงานต่างด้าวที่จดทะเบียนในระบบรวมกันประมาณ 20,000 คน และมีผู้ตกค้างยังไม่ได้ดำเนินการอยู่กว่า 13,000-14,000 คน ดังนั้นจึงได้มีการปรับกระบวนการทำงานให้ทุกหน่วยไปอยู่รวมกันที่ศูนย์แห่งนี้ทั้งหมด ทั้งเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมหรือแม้แต่ฝ่ายปกครอง แพทย์ ฯลฯ

นาณรงค์ศักดิ์กล่าวว่า ตัวเลขล่าสุดในสัปดาห์นี้มีผู้ที่ตกค้างยังไม่ดำเนินการอยู่เพียงประมาณ 3,000 คน โดยเจ้าหน้าที่ได้โหมทำงานหนัก เลิกงานเมื่อแรงงานคนสุดท้ายทำเรื่องจนเสร็จแล้ว บางวันเลิกงานกันราว 02.00-03.00 น.เลยทีเดียว ซึ่งต้องขอชื่นชมเจ้าหน้าที่และเป็นกำลังใจที่ทำงานกันอย่างหนักหามรุ่งหามค่ำ


กำลังโหลดความคิดเห็น