xs
xsm
sm
md
lg

นิคมฯ แหลมฉบังจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นิคมฯแหลมฉบัง  รับฟังความคิดเห็นประชาชน หลังของเดิมล้าสมัย
 
ศูนย์ข่าวศรีราชา- นิคมฯ แหลมฉบัง จัดรับฟังความคิดเห็นการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน-สิ่งแวดล้อม หลัง EIA เดิมล้าสมัย และใช้มาตั้งแต่ปี 2531 เพื่อปรับปรุงให้ทันสมัย และครอบคลุมในทุกด้าน

วันนี้ (26 มี.ค.) นายนิติ วิวัฒน์วานิช นายอำเภอศรีราชา จ.ชลบุรี เป็นประธานการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม รายงานการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง โดยมี นายอัฐพล จิรวัฒน์จรรยา รองผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายวีระศักดิ์ แจ้งการ ผู้อำนวยการนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง ให้การต้อนรับ และมีประชาชนในพื้นที่แหลมฉบัง และใกล้เคียงร่วมประชุมในครั้งนี้

สำหรับการจัดรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว เป็นผลสืบเนื่องจากนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง ได้ให้บริการในด้านสาธารณูปโภค และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ซึ่งได้รับมติเห็นชอบในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) จากสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2531 ซึ่งล้าสมัยแล้ว

โดยปัจจุบัน สภาพแวดล้อมนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปภายหลังจากที่มีการดำเนินโครงการ ทั้งในด้านการใช้ประโยชน์ที่ดิน สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคม นอกจากนั้น ยังมีประเด็นที่ต้องศึกษา และดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม และมีประสิทธิภาพสูงสุด ดังนั้น จึงต้องรับฟังความคิดเห็นที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

นายวีระศักดิ์ แจ้งการ ผู้อำนวยการนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง กล่าวว่า การศึกษาและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบในครั้งนี้ ไม่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบ ไม่มีการขยายพื้นที่เพิ่ม หรือมีโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด เพียงแต่ที่เคยศึกษาและทำไว้นั้นมีมานานกว่า 30 ปีแล้ว ซึ่งอาจจะล้าสมัย จึงต้องมีการจัดทำใหม่ให้ครอบคลุมในทุกด้าน เพื่อให้สอดคล้องต่อความเป็นจริงในปัจจุบัน

อนึ่ง นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบังมีเนื้อที่ทั้งสิ้น 3,556 ไร่ แบ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมทั่วไป 1,824 ไร่ เขตอุตสาหกรรมเสรี 797 ไร่ มีเนื้อที่สาธารณูปโภคและอื่นๆ 753 ไร่ โดยมีสถานประกอบการอยู่ทั้งสิ้น 113 แห่ง
มีประชาชน เข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก
โดยการดำเนินการในครั้งนี้ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง โดยของเดิมล้าสมัยจึงต้องการปรับปรุงใหม่


กำลังโหลดความคิดเห็น