xs
xsm
sm
md
lg

คนแห่ซื้อ “บักขี้เบ้า” ของกินหายาก พ่อค้าน่านขายได้วันละ 200-300 ลูก(ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


น่าน - นักชิมของป่า-ของแปลกรุมซื้อ “บักขี้เบ้า หรือหม่าขี้เบ้า” อีกหนึ่งเมนูพื้นบ้านภาคเหนือ-ของกินหายากกันต่อเนื่อง พ่อค้าหนุ่มน่านรับมาขายต่อได้วันละ 200-300 ลูก ทำเงินหลักพัน



วันนี้ (25 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นักชิมของแปลก-ของป่าพากันเลือกรุมซื้อ “บักขี้เบ้า หรือหม่าขี้เบ้า” หนอนตัวอ่อนของแมงจู้จี้ (ลักษณะคล้ายกับแมงกุ๊ดจี่ของภาคอีสาน แต่ตัวโตกว่ามาก” ที่พ่อค้าท้องถิ่นนำมาวางขายในตลาดราชพัสดุ อ.เมืองน่าน กันอย่างคึกคัก เนื่องจากถือเป็นอาหารรสเลิศประจำฤดูกาลของภาคเหนือที่หายากมีออกมาวางจำหน่ายกันเพียงปีละ 1 ครั้ง และเป็นที่นิยมนำไปประกอบอาหาร มีคุณค่าทางอาหารสูง และหายากต้องไปขุดออกมาจากใต้กองมูลควาย

นายมณเทียร เหมืองหลิ่ง พ่อค้าบักขี้เบ้า บอกว่า ซื้อต่อมาจากชาวบ้านแล้วนำมาขายในราคาลูกละ 10 บาท ซึ่งช่วงนี้บักขี้เบ้าจะมีค่อนข้างมาก วันหนึ่งจะขายได้ 200-300 ลูก สร้างรายได้ถึงวันละ 2,000-3,000 บาท

ขณะที่ชาวบ้านที่มาซื้อต่างบอกว่าบักขี้เบ้าเป็นอาหารชั้นเลิศ มีโปรตีนสูง ที่สำคัญหายากมาก ปีหนึ่งจะได้ลิ้มรสสักครั้ง ซึ่งสามารถนำไปแกงกับผักหวาน ผักชะอม หรือผักพื้นเมืองที่ขึ้นตามป่า สำหรับกรรมวิธีในการนำไปประกอบอาหาร ก็จะนำตัวอ่อนในลูกกลมๆ ไปชำแหละเอาขี้ หรือไส้ออก ก่อนตัวอ่อนที่เป็นหนอนมาทำความสะอาด แล้วนำไปทำอาหาร นอกจากนั้นยังนำไปต้มกินกับน้ำพริกพื้นบ้านได้ด้วย


สำหรับขี้เบ้าเป็นคำพื้นบ้านของเกษตรกรภาคเหนือ ที่ใช้เรียกรังของตัวอ่อนแมลงปีกแข็งชนิดหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเป็นก้อนกลมขนาดประมาณลูกเทนนิส ส่วนตัวเต็มวัยหรือแมลงพ่อแม่เรียกว่า แมงซู่ซ่า หากจับจะส่งเสียงร้องดังซู่ซ่าๆ ซึ่งอาจเป็นที่มาของชื่อ แมงซู่ซ่า เป็นแมลงปีกแข็งที่มีขนาดใหญ่ รูปร่างคล้ายแมงกุดจี่ของทางภาคอีสาน แต่ตัวโตกว่ามาก ขนาดความยาวตั้งแต่ปากจนถึงก้นประมาณ 4.5 เซนติเมตร ความกว้างลำตัวประมาณ 3.5 เซนติเมตร หรือบางแห่งเรียกว่าแมงจู้จี้ แมงซู่ซ่ามีวิถีชีวิตผูกพันอยู่กับขี้ควายตั้งแต่เกิดจนตาย

จากการสอบถามเกษตรกรยังไม่เคยมีใครพบเห็นแมงซู่ซ่าอาศัยอยู่กับขี้วัวเลย ขี้วัวโดยทั่วไปจะเห็นเฉพาะแมงซีหรือทางอีสานเรียกแมงกุดจี่เท่านั้น และประมาณช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคมตัวเต็มวัยเมื่อได้รับการผสมพันธุ์แล้วจะบินไปหากองขี้ควายที่ใหม่ๆ สดๆ เพื่อเป็นแหล่งอาหารและวางไข่ โดยแม่พันธุ์จะใช้ปากที่แข็งแรงขุดรูใต้กองขี้ควายขนาดความลึกประมาณ 1 ศอก หรือบางหลุมอาจจะลึกกว่านี้ โดยก้นหลุมจะทำเป็นโพรงขนาดใหญ่

จากนั้นแม่พันธุ์จะวางไข่บนขี้ควาย แล้วกิจกรรมปั้นก้อนขี้ควายที่มีไข่อยู่ภายในก็เริ่มขึ้น โดยใช้ปากดันถอยหลัง ขาหลังทำหน้าที่ปั้นก้อนขี้ควายให้เป็นก้อนกลมขนาดใหญ่แล้วลำเลียงขนลงไปไว้ในโพรงก้นหลุมที่ทำไว้ แล้วจะกลับขึ้นมาวางไข่และปั้นก้อนขี้ควาย ขนลงหลุม ทำจนกระทั่งขี้ควายหมดกอง ซึ่งในแต่ละหลุมนั้นมีจำนวน-ขนาดก้อนบ่าขี้เบ้าไม่เท่ากัน บางหลุมมีถึง 15 ก้อน หากเป็นก้อนขี้เบ้าจากควายหงาน (พ่อควายตัวโตๆ ขึ้นเปรียว) ก้อนขี้เบ้าก็จะมีขนาดใหญ่ตาม

หลังจากปั้นก้อนขี้ควายส่งลงหลุมหมดกองแล้ว แม่พันธุ์จะลงไปขุดเพื่อขยายโพรงให้กว้างโดยลำเลียงดินขึ้นมาไว้บนปากรู เกษตรกรที่ไปหาบักขี้เบ้าก็จะอาศัยการสังเกตกองดินที่ถูกขนขึ้นมาโดยชาวบ้านในท้องถิ่นเรียกว่า “ขี้ขวย” เมื่อได้โพรงขนาดใหญ่แล้วแม่พันธุ์ก็จะเริ่มกิจกรรมกลิ้งก้อนขี้เบ้าในโพรงต่อเพื่อให้ดินมาพอกก้อนขี้เบ้าอีกชั้น ไข่เมื่อฟักเป็นตัวอ่อนจะอาศัยก้อนขี้ควายกินเป็นอาหารเพื่อเจริญเติบโต ประมาณเดือนมีนาคม-เมษายนตัวอ่อนจะกลายเป็นดักแด้ ช่วงนี้ขี้ควายจะถูกตัวอ่อนกินหมดเหลือแต่ก้อนดินที่เป็นเปลือก ในระยะนี้ดักแด้จะไม่กินอะไรเลย

เกษตรกรรู้ว่าระยะนี้เป็นระยะที่มีคุณค่าทางอาหารที่สุด และไม่มีขี้ควายในท้องของดักแด้ เทศกาลหาขี้ขวยของบักขี้เบ้าก็จะเริ่มขึ้นในช่วงเดือนเมษายนถึงต้นพฤษภาคม หากพ้นระยะนี้ดักแด้ก็จะพัฒนาเป็นตัวแก่และออกจากเบ้าดินในช่วงต้นเดือนมิถุนายน



กำลังโหลดความคิดเห็น