เชียงราย - มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เปิดงานเกษตรแฟร์ฯ 61 โชว์สารพัดผลผลิตท้องถิ่น-ผลิตภัณฑ์การเกษตร-พันธุ์ข้าวเชียงแสน พร้อมตั้งโต๊ะสาธิตการประยุกต์วัฒนธรรมอาหารทำ “พิซซ่าดักแด้” สุดอร่อยให้เห็นทุกขั้นตอน
วันนี้ (26 ก.พ.) นายสมบูรณ์ ศิริเวช รองผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย เป็นประธานเปิดงานมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เกษตรแฟร์ ประจำปี 2561 ที่จัดขึ้นบริเวณลานหน้าอาคารคหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ระหว่างวันที่ 26 ก.พ.-4 มี.ค.นี้ โดยมี ดร.ศรชัย มุ่งไธสง อธิการบดีมหาวิทยาลัย พร้อมผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น คณาจารย์ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการเกษตรและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ตัวแทนเกษตรกร ตัวแทนจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เข้าร่วมการเสวนาเรื่องปีแห่งการเกษตรชาติพันธุ์ รวมทั้งจัดนิทรรศการเกี่ยวกับการเกษตรของเครือข่ายเกษตรกร - การจัดแสดงและจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร ผลิตภัณฑ์แปรรูปทางการเกษตร ฯลฯ
ทั้งนี้ ภายในงานนอกจากจะมีสินค้าทางการเกษตรปลอดภัยจากสารเคมี และการนำผลผลิตมาแปรรูปปรับใช้ให้เหมาะสมกับยุคปัจจุบันแล้ว ยังมีการนำเสนอผลิตภัณฑ์อาหารใหม่ๆ จากการเกษตรมาจัดแสดงและจำหน่ายอย่างหลากหลายแล้ว ทางศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ยังมีการสาธิตการผลิตอาหารแปลกตา เช่น พิซซ่าหน้าดักแด้ ตั้งแต่การทำแป้ง การตัดแป้ง และทำแผ่น การใส่ส่วนผสมต่างๆ เหมือนพิซซ่าทั่วไป แต่มีความพิเศษที่มีตัวดักแด้ตัวโตทอดกรอบลงไป แล้วราดมอลซาเรนล่าซีส ก่อนนำเข้าเตาอบด้วยอุณหภูมิ 400 องศาฟาเรนไฮต์นาน 12-15 นาที ก็นำออกมารับประทานได้ ซึ่งสร้างความสนใจกับผู้ไปชมงานเป็นอย่างยิ่ง ฯลฯ
ขณะเดียวกัน มีการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ข้าวกล้องพันธุ์พื้นเมืองเชียงแสน ซึ่งทางมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายได้ดำเนินการตามโครงการศูนย์เรียนรู้อนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยเป็นการฟื้นฟู อนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์ข้าวจากพื้นที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย แล้วนำมาใส่บรรจุพันธุ์เป็นข้าวอินทรีย์หลากหลาย เช่น ข้าวเจ้าไร่หัวแดง ข้าวก่ำนา ข้าวเหนียวเปลือกแดง ฯลฯ
ด้านอาจารย์ ดร.ศรีวรรณ ไชยสุข ผู้อำนวยการสถาบันความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อมเพื่อพัฒนาท้องถิ่นและอาเซียน มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เปิดเผยว่า ปัจจุบันโครงการพยายามอนุรักษ์ข้าวพันธุ์เมืองเชียงแสนโดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2557 ด้วยการสำรวจจนพบประโยชน์จากข้าวสายพันธุ์ท้องถิ่นต่างๆ ดังกล่าวมากมาย จึงได้ขยายกิจกรรมอนุรักษ์จากมหาวิทยาลัยไปสู่ชุมชน พัฒนาร่วมกับชุมชน วิจัย ฝึกอบรม ให้ความรู้กับนักเรียน นักศึกษาและประชาชนโดยทั่วไปด้วย