นครสวรรค์ - ส่องลมหายใจ “ช่างแกะสลักงาช้างพยุหะคีรี” หลังรัฐเข้มงวดการค้างาช้าง ช่างแกะสลักมือทองที่เคยมีเกือบครึ่งร้อย ต้องหันไปทำอาชีพอื่นกันหมด วันนี้เหลืออยู่แค่ 2-3 คนที่ยังปักหลักรับงาน และต้องแกะกระดูกนกจอกเทศ-ไม้มงคลแทน
วันนี้ (20 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ ถือเป็นแหล่งแกะสลัก-จำหน่ายพระเครื่อง เครื่องราง วัตถุมงคลต่างๆ มาอย่างยาวนาน เคยมีร้านรวงที่เปิดบริการกว่า 40 ร้านรับแกะสลักทั้งงาช้าง ไม้มงคล ไม้คูน ไม้พญางิ้วดำ เป็นต้น
โดยเฉพาะงาช้างแกะสลักเป็นรูปสิงห์, มีดหลวงพ่อเดิมงาช้าง, นางกวักงาช้าง, แหวนงาช้าง, กำไลงาช้าง, พระเครื่อง-พระพุทธรูปงาช้าง ฯลฯ ในอดีตเป็นที่นิยมมาก ทำให้อาชีพช่างแกะสลักงาช้างเฟื่องฟู ช่างแกะสลักงาช้างมีงานทำอย่างต่อเนื่อง และมีรายได้ในวันละ 1,000-2,000 บาท
แต่ปัจจุบันช่างแกะสลักงาช้างต้องหันมารับแกะสลักไม้มงคล และกระดูกนกกระจอกเทศแทน หลังจากรัฐบาลเข้มงวดประกาศห้ามซื้อขายงาช้างทำให้รายได้ลดลง บรรดาช่างหันไปประกอบอาชีพอื่นๆ แทน
นายพงษ์ ทองวิชิต อายุ 67 ปี ช่างแกะสลักงาช้าง บ้านเลขที่ 172/2 ต.เนินมะกอก อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ตนสนใจแกะสลักวัตถุมงคลตั้งแต่อายุ 15 ปี พอเรียนจบแค่ประถม 4 ก็ไปฝึกวิชาชีพแกะสลักจากผู้ใหญ่ หรืออาจารย์ใกล้ๆบ้าน ต่อมาเข้าเกณฑ์ทหาร 2 ปีก็ยังยึดอาชีพนี้อยู่
ช่างพงษ์บอกว่า เมื่ออดีตตอนอายุ 28 ปีงานแกะสลักงาช้าง ทั้งสิงห์งาช้าง หรือเครื่องรางต่างๆ เช่น แหวน กำไล นางกวักงาช้าง เป็นที่นิยม งานจะเยอะมาก ทำให้มีรายได้เลี้ยงครอบครัวได้สบาย และทำให้เกิดอาชีพช่างแกะสลักงาช้างเป็นจำนวนมาก
ต่อมาราวปี 2550 หน่วยงานรัฐเข้มงวด เจ้าหน้าที่ตำรวจลงพื้นที่ออกกวาดล้างแหล่งค้างาช้างที่ อ.พยุหะคีรี พร้อมกับจับกุมร้านค้างาช้าง ทำให้งานรับแกะงาช้างลดลงเป็นจำนวนมาก บรรดาช่างแกะงาช้างก็พากันหันไปประกอบอาชีพอื่นๆ แทน
“ตอนนี้คงมีช่างแกะสลักหลงเหลือเพียง 2 หรือ 3 คนเท่านั้นที่ยังยึดอาชีพแกะสลักนี้อยู่ แต่ไม่ใช่งาช้าง โดยจะมีร้านค้า หรือวัดนำไม้มงคล เช่น พญางิ้วดำ ไม้คูน ไม้มะยม และกระดูกนกกระจอกเทศ มาให้แกะสลักเป็นรูปสิงห์ และรูปพระ หรือมีด เข้าปลุกเสกเพื่อจำหน่าย”
ช่างพงษ์บอกว่า อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้งานแกะสลักเครื่องราง-วัตถุมงคลที่พยุหะคีรี เลือนหายไปก็คือ เด็กรุ่นใหม่ไม่สนใจที่จะมาฝึกฝีมือทั้งๆ ที่ยินดีสอนให้ฟรีๆ ซึ่งต่อไปอาชีพช่างแกะสลักงาช้างน่าจะไม่มีช่างสืบสานต่อแล้ว